วศ.อว. จับมือ ปตท. เช่าวังจันทร์วัลเลย์ เปิดสนามทดสอบยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทยสู่ศูนย์กลางยานยนต์สมัยใหม่


​ วันที่ 16 มีนาคม 2565 ณ ห้องพลังไทย ปตท. สำนักงานใหญ่ ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และนายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมในพิธีลงนามสัญญาเช่าที่ดินในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์บริการ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีนายสุรชัย เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนางสาวภัทริยา ไชยมณี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีการลงนามดังกล่าว
นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า วศ. ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของ ปตท. บนพื้นที่ขนาด 26 ไร่ ภายในโซนนวัตกรรมของ EECi วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายแห่งอนาคต (Future mobility) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยียานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็น Mega trend ที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์หลายสาขาทั้งด้านยานยนต์ไฟฟ้าระบบเชื่อมต่อโทรคมนาคม เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมากในการพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย
นอกจากนี้ วศ. มีแผนการให้บริการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการกำหนดนโยบายและส่วนการบังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นการออกแบบวิธีทดสอบสมรรถนะการขับขี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle: CAV) เช่น การทดสอบการรับส่งข้อมูลสำหรับการขับขี่ผ่านระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแบบ WIFI, 4G LTE, 5G การทดสอบตามข้อกำหนด ADAS EURO NCAP การทดสอบการขับขี่แบบอัตโนมัติแบบเชื่อมโยงกับรถคันอื่น การขับขี่แบบอัตโนมัติแบบเป็นกลุ่มก้อน (Platooning) ดังนั้น โครงการสร้างสนามทดสอบ CAV Proving ground ณ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จะเป็นส่วนหนึ่งของ Roadmap ใหญ่ของประเทศ ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ โดยเน้นการทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การผนึกกำลังในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และช่วยพัฒนาการเดินทางให้มีความสะดวกและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมาย “Net Zero” ของประเทศไทย
ด้านนายสุรชัย เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการร่วมกันสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมของยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ของ ปตท.

You may have missed