วช. -มข. มอบชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT) 100,000 ชุด ให้กับกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid diagnostic test; OV-RDT) จำนวน 100,000 ชุด ให้กับ เขตสุขภาพที่ 7 กระทรวงสาธารณสุข ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และ ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมด้วย ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวร หัวหน้าคณะวิจัย เป็นผู้แทนส่งมอบฯ โดยมี นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 พร้อมด้วย นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น เป็นผู้รับมอบชุดตรวจฯ โดยการจัดพิธีเป็นการจัดกิจกรรมภายใต้มาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดขอนแก่น อย่างเคร่งครัด
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) แก่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่งบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยหวังผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้ลดน้อยลงหรือหมดไปจากประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ให้ทุนอุดหนุนเพิ่มเติมเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยประจำปี 2560 ในโครงการ “การผลิตชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน (Urine rapid test kit for opisthorchiasis detection in community)” เพื่อที่จะได้ส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในชุมชน ตามแผนยุทธศาสตร์ “กำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568” รวมการผลิตชุดตรวจจำนวน 100,000 ชุด ซึ่งชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV-RDT มีคุณสมบัติพิเศษที่จะช่วยให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงทีเพราะสามารถตรวจคัดกรองประชาชนจำนวนมาก ขั้นตอนในการตรวจไม่ซับซ้อน ทำได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ สามารถดำเนินการตรวจได้โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของชุมชนสามารถดำเนินการตรวจได้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อซ่อนเร้นได้ในกรณีที่ตรวจไม่พบไข่พยาธิในอุจจาระ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมนี้ที่ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาชนชาวไทยของเรา และ วช. ยินดีที่จะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่น และกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ รวมถึงสนับสนุนงานวิจัย ในทุก ๆ ด้าน ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยต่อไป
โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวว่า “พยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุปฐมภูมิของโรคพยาธิใบไม้ตับรวมทั้งมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยมะเร็งท่อน้ำดีเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนถึง 20,000 คนต่อปี ดังนั้นตลอดดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีได้ทุ่มเทเพื่อการศึกษาวิจัยและแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการหนึ่งในความพยายามลดอุบัติการณ์โรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ การกำจัดพยาธิใบไม้ตับให้หมดไปจากพื้นที่ ปัจจุบันการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโดยการตรวจอุจจาระตามวิธีมาตรฐานที่ถือปฏิบัติมาเป็นเวลานานมีประสิทธิภาพต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยคณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้พัฒนาการตรวจวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับด้วยวิธีใหม่ โดยใช้ตัวตรวจจับจำเพาะหรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่มีความจำเพาะต่อพยาธิใบไม้ตับและเป็นสารตรวจจับสิ่งคัดหลั่งหรือแอนติเจนของพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะ โดยชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากการตรวจวิธี ELISA ให้มีรูปแบบที่ง่ายขึ้น ใช้เวลาสั้นลง
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงประโยชน์สูงสุดที่กระทรวงสาธารณสุข จักได้นำไปใช้เพื่อการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตามนโยบายทศวรรษแห่งการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทำให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจในห้องปฏิบัติการหรือโรงพยาบาลในจังหวัดอีกต่อไป” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 7 กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะนักวิจัยผู้คิดค้นนวัตกรรมทุกท่าน ที่มอบชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV-RDT ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 100,000 ชุด โดยชุดตรวจ OV-RDT ถือว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ “กำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568” ได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรม ทำให้สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อที่แท้จริงได้ ทั้งยังให้ผลการตรวจเชิงปริมาณที่สัมพันธ์กับความหนาแน่นของพยาธิ ทำให้สามารถนำมาใช้ในการตรวจประเมินหลังการให้ยารักษา รวมไปถึงการหาอัตราการติดเชื้อซ้ำหรือการติดเชื้อใหม่ได้ด้วย โดยทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถเก็บตัวอย่างจากประชากรเป้าหมายจำนวนมากได้ง่ายและรวดเร็วซึ่งจะทำให้มีความเป็นไปได้ในการตรวจเพื่อครอบคลุมกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 6-10 ล้านคน โดยชุดตรวจจำนวน 100,000 ชุด ที่ได้รับมอบจะนำไปใช้ในการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 7 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคามและกาฬสินธุ์ ซึ่งการตรวจปัสสาวะนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อ ให้ยารักษาเพื่อการกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับได้ทันท่วงทีและสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเพื่อกำจัดพยาธิเชิงพื้นที่สนับสนุนแนวนโยบายการกำจัดพยาธิใบไม้ตับเพื่อลดผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับได้สำเร็จ ส่งผลให้ลดความเสี่ยงต่อโรคและอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งท่อน้ำดีต่อไป” ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 7 กล่าว
สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้คิดค้นและพัฒนาการนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับด้วยวิธีใหม่ ได้แก่ “ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT)” โดยใช้ตัวตรวจจับจำเพาะหรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่มีความจำเพาะต่อพยาธิใบไม้ตับและเป็นสารตรวจจับสิ่งคัดหลั่งหรือแอนติเจนของพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะ ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการตรวจวิธี ELISA ให้มีรูปแบบที่ง่ายขึ้น ใช้เวลาสั้นลง และใช้ได้ในภาคสนาม โดยการตรวจใช้เวลาเพียง 10 นาที ในปัจจุบัน ได้ผลิตชุดตรวจสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid diagnostic test, OV-RDT) เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ประชาชนและส่งเสริมการแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง