วัชระร้องชวนสอบพรพิศ-มณฑา จัดทำงบประมาณหมกเม็ดปี 63-64 จนสตง.ยัง งง!!


(7 มิ.ย.65)ที่อาคารรัฐสภา เมื่อเวลา 12.30น.นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านนางธนพร จันทร์เลิศดี ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารทั่วไปและสารบรรณถึงนายชวน หลีกภัยประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและสอบจริยธรรมนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนางมณฑา น้อยแย้ม ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่สามารถแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินปี 2564 และมีความเห็นรายงานการเงินปี 2563 ไม่ถูกต้อง ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ

นายวัชระ ได้ระบุในหนังสือร้องเรียนว่า ด้วยปรากฏรายงานสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะผู้สอบบัญชีของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินปี 2564 ที่ได้รับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจำนวน 2,876,534,800 บาท เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็น มีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบที่มียอดตามบัญชีต่ำกว่าทะเบียนคุมการจ่ายเงินงวด จำนวน 2 สัญญา และงบการเงินปี 2563 ที่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจำนวน 2,758,288,200 บาท ซึ่งสตง. มีความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง มีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญนั้น ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสภาต้องจัดทำรายงานการเงินอย่างสมเหตุสมผล เพื่อให้ผู้จำเป็นต้องนำข้อมูลจากรายงานการเงินนี้ไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจและใช้ประเมินความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีต่อสาธารณะ ดังนั้น จึงมีข้อสงสัยหลายประการที่ต้องสอบถามคือ

1.เพราะเหตุใดสำนักงานฯ จึงไม่สามารถจัดทำรายงานการเงินตามเกณฑ์คงค้างได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จนเป็นสาเหตุให้ สตง.ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชี (ภายนอก) แสดงความเห็นว่าสำนักงานฯ ไม่สามารถจัดทำรายงานการเงินปี 2564และปี 2563 ตามกรอบมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนดใช่หรือไม่ สำนักงานฯ ได้ปกปิดข้อมูลอะไรไว้ และเกิดความเสียหายหรือไม่ อย่างไร เช่นปี 2563 ลูกหนี้เงินยืมในงบประมาณ มีความผิดปกติของรายการหักล้างลูกหนี้เงินยืมโดยไม่มีเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีของงวดปี 2556-2560 จำนวน 13 รายการ เป็นเงิน 1,142,129 บาท ส่อว่าทุจริตหรือไม่ เป็นต้น

2.การทำรายงานการเงินไม่ถูกต้องตามเกณฑ์คงค้าง ส่งผลให้ผู้ใช้รายงานการเงิน (สตง. ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่รัฐสภา ฯลฯ) ไม่สามารถเข้าใจความหมายของข้อมูลที่แสดงในรายงานการเงินที่ทำขึ้นโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ และไม่สามารถนำรายงานการเงินมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันได้ ซึ่งกระทบต่อศักยภาพในการให้บริการของโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณและก่อหนี้ผูกพัน เช่นปี 2564 โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ มีการอนุมัติจ่ายเงินงวดงานไปแล้วแต่ได้รับสิ่งของที่ผิดข้อกำหนดในสัญญาคือ ไม้ตะเคียนทองกลายเป็นไม้พะยอม เป็นต้น และโครงการอื่น ๆ ใช่หรือไม่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จะแก้ไขอย่างไร
3.รายงานการเงินที่ผิดพลาดและไม่แสดงรายการที่ครอบคลุมทรัพยากรทั้งหมดที่ใช้ไป เช่น โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ เป็นต้น ตรงตามวิสัยทัศน์ (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก้าวสู่การเป็น SMART Parliament) พันธกิจ (เสริมสร้างกระบวนการนิติบัญญัติให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล , เสริมสร้างบทบาทและความร่วมมือในเวทีรัฐสภาอาเซียนและรัฐสภาระหว่างประเทศ , ส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนรวมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และก่อให้เกิดผลผลิตตามเป้าหมาย (เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง) ตรงตามที่สำนักงานฯ กำหนดไว้หรือไม่ กระทบต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของสถาบันนิติบัญญัติหรือไม่
4. รายงานของผู้สอบบัญชีระบุว่า “ไม่สามารถแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินมีนัยสำคัญ ไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมเพียงพอ รายงานการเงินไม่ถูกต้อง มีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ” แสดงว่าการบริหารเงินงบประมาณแผ่นดินของสำนักงานฯ ไม่โปร่งใส ส่อว่าทุจริตและขาดธรรมาภิบาลใช่หรือไม่ เนื่องจากระหว่างการดำรงตำแหน่งของนางมณฑา น้อยแย้ม ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ ในฐานะผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลงานคลังและงบประมาณ มีผู้แจ้งเบาะแสว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาทำการทุจริตต่างกรรมต่างวาระ ได้แก่ สินทรัพย์ประเภทลูกหนี้เงินยืม (ทำเอกสารเท็จไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นจำนวนเงินนับล้านบาท) เงินสด (ไม่นำส่งคืนคลังภายในเวลาที่กำหนด) เงินฝากธนาคาร (โอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่นโดยมิชอบ) เงินค่าอาหารทำการนอกเวลา (โอนเงินเข้าบัญชีตนเองโดยมิชอบ) และสำนักงานฯ มีคำสั่งลงโทษทางวินัยและละเมิดกับผู้ใต้บังคับบัญชาของนางมณฑาฯ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน เช่น ไล่ออก ลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน เป็นต้น  จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดนางมณฑา ที่ได้กระทำความผิดบ่อยครั้ง (จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง) จึงไม่ถูกลงโทษทางวินัยหรือทางละเมิดร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งไม่ใส่ใจรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารต่อรายงานการเงินของ สตง. ร่วมกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (บุคคลทั้งสองลงนามรับรองรายงานของผู้สอบบัญชีแล้ว)

อนึ่ง ก่อนหน้านี้นายวัชระได้แจ้งเบาะแสการทุจริตการเบิกจ่ายน้ำมันหลวงรถยนต์หลวงของนายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่านางมณฑา น้อยแย้ม ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนนางมณฑาฯ ตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สอบสวนข้อเท็จจริงความผิดปกติของงบการเงินของสำนักงานฯ ปี 2564 และปี 2563 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐสภาที่ขาดความโปร่งใส ไม่ทำบัญชีและรายงานการเงินตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กำหนดภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ใช้บังคับตามมาตรา 84 และหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามมาตรา 80 ดังนั้น จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบจริยธรรม กับนางมณฑา น้อยแย้ม ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ และนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพราะบริหารงานขาดความโปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมาในการทำงาน ดังนโยบายที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเคยให้ เนื่องในพิธีลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการของสำนักงานฯ ปี 2564 ว่า “ขอให้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักธรรมาภิบาล กฎหมายระเบียบและความถูกต้องไว้เป็นหลัก อย่าทำในสิ่งที่ผิด”

You may have missed