กรมวิทย์ฯ ศึกษาอนุรักษ์พันธุ์และจัดทำฐานข้อมูลทางพันธุกรรม นำร่อง “พริกไทยและกระวาน” ซึ่งเป็นพืชที่ใช้ทำอาหารและยาหลายชนิด เพื่อเป็นข้อมูลพัฒนาพันธุ์ เพิ่มมูลค่าการส่งออกสมุนไพร

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ทำการศึกษาสมุนไพรสำคัญของภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยนำร่องศึกษา พริกไทย (พันธุ์ปรางถี่ และคุชชิ่ง) และกระวาน ซึ่งเป็นพืชที่ใช้เป็นองค์ประกอบทั้งในอาหารและยาหลายชนิด โดยเฉพาะพริกไทยที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพริกไทยพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 95 ของพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศปีละจำนวนมาก และเป็นสินค้าขึ้นชื่อ
ของจังหวัดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคตะวันออกของประเทศ
การดำเนินงานศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย การศึกษาเพื่อแยกสายพันธุ์ของพริกไทย และการศึกษาความหลากหลายของกระวานในพื้นที่ต่างๆ ของภาคตะวันออก โดยใช้เทคนิคทางชีววิทยาระดับโมเลกุลในการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพร เช่น การทำ genome sequencing และ DNA barcode เพื่อบ่งบอกลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์พืชแต่ละชนิด รวมถึงการจัดทำเป็นข้อมูลของพืชประจำถิ่น โดยทางสถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ติดต่อกับแหล่งวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่พริกไทย ตำบลแก่งหางแมว อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นกลุ่มปลูกพริกไทยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จในการดำเนินงานเป็นอย่างดี โดยทางวิสาหกิจชุมชนจะช่วยในการเก็บตัวอย่างให้กรมนำมาศึกษาวิจัย
สำหรับระยะเวลาในการศึกษาวิจัยได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยทีมนักวิจัยได้จัดเตรียมข้อมูล คัดเลือกพืช และติดต่อสถานที่ลงเก็บข้อมูลตัวอย่างที่พร้อมในการศึกษาวิจัย จากนั้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคมจะดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลทางพันธุกรรมกับข้อมูลลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และทางด้านเคมี ทั้งนี้คาดว่าประมาณต้นปี 2566 จะสามารถสรุปผลการวิจัยและประชุมสรุปข้อมูลทางด้านพันธุกรรมของพืชทั้งสองชนิดให้กับชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การศึกษานี้จะทำให้ทราบความจำเพาะของพืชสมุนไพรในแต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของข้อมูลทั้งทางด้านพฤกษศาสตร์ ด้านเคมี และข้อมูลพันธุกรรมของพืช ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืช เพิ่มปริมาณในการผลิต รวมถึงเป็นการสร้างแหล่งพืช GI ที่มีคุณภาพ มีข้อมูลยืนยันของแหล่งพืช และยังเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของพืชสมุนไพรมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่สำคัญและหายากของแต่ละพื้นที่อีกด้วย ซึ่งหลังจากศึกษาพันธุ์พืชสองชนิดแล้ว ในอนาคตจะมีการศึกษาพืชสมุนไพรอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ชะมวงเปราะหอม เร่ว เป็นต้น

********************* 6 มิถุนายน 2565

You may have missed