รางวัลชมนาด ครั้งที่ 8 ไร้ผู้ได้รับรางวัลมอบเงินรางวัลพัฒนาวงการนักเขียนหญิง (ชมคลิป)

รางวัลชมนาด ครั้งที่ 8 ไร้ผู้ได้รับรางวัลมอบเงินรางวัลพัฒนาวงการนักเขียนหญิง

 

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=TEEp-itP2TY[/embedyt]

คณะกรรมการตัดสินการประกวดวรรณกรรมรางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) ครั้งที่ 8 ผลงานประเภท “นวนิยาย” (Fiction-Novel) ได้มีมติร่วมกันว่า ในปีนี้ ไม่มีผลงานวรรณกรรมใดที่เหมาะสมจะได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ โดยบริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานได้มอบเงินรางวัลไปใช้เพื่อพัฒนาวงการนักเขียนหญิงไทย


นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ บรรณาธิการอดีตนิตยสารสกุลไทย และประธานกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลชมนาด กล่าวว่า ภาพรวมของผลงานทั้งหมด 31 เรื่องที่ส่งเข้าประกวดมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่นิยายรักไปจนถึงนวนิยายประวัติศาสตร์ ผลงานส่วนให้มีโครงเรื่องดี แต่บางส่วนเน้นเทคนิคการนำเสนอ แต่กลับขาดอรรถรสและไม่น่าติดตามเท่าที่ควร เนื่องจากนวนิยายที่ดีควรมีวรรณศิลป์หรือภาษาที่บ่งบอกถึงความคมคายของผู้เขียน จึงทำให้บางเรื่องยังไม่สมบูรณ์

ขณะเดียวกันบางเรื่องมีการเสนอมิติตัวละครที่ดีผ่านบทสนทนา แต่การดำเนินเรื่องในตอนจบก็คลี่คลายอย่างง่ายดายหรือเฉลยเรื่องราวเสียก่อน หรือนวนิยายประวัติศาสตร์ก็ยังไม่มีความกลมกลืนหรือสมจริงเพียงพอ ทำให้ผู้อ่านไม่เชื่อในตัวละคร สำหรับผลงานที่เข้ารอบ 6 เล่มสุดท้าย แต่ละเรื่องมีข้อดีและมีจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าผลงานยังไม่ไปถึงจุดที่จะได้รับรางวัล อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการขอเป็นกำลังใจให้นักเขียนที่สร้างผลงานทั้ง 6 เรื่องที่เข้ารอบสุดท้าย


นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นักเขียนรางวัลซีไรต์และกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ในการวินิจฉัยถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เนื้อเรื่อง และศิลปะการนำเสนอหรือรูปแบบในการประพันธ์ ผลงานที่ส่งเข้ามาในปีนี้มีเนื้อเรื่องดีทุกเรื่อง แต่เมื่อพิจารณาทั้ง 2 ส่วนประกอบกันกันแล้ว เนื้อหาดีแต่ใช้รูปแบบในการนำเสนอที่มีข้อด้อย ข้อเด่นต่างกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจึงยังไม่มีผลงานที่ถึงมาตรฐานของรางวัลที่เราปราถนาจะให้เป็น


ด้าน ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล รองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน และคณะกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวว่า นวนิยายเป็นเรื่องแต่งด้วยจินตนาการ แต่ย่อมมีข้อมูลคงามคิดมาจากชีิวิตจริง จึงต้องสมจริง ทั้งฉาก เหตุการณ์ การดำเนินเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา ฯลฯ และควรมีสาระและคุณค่าควรแก่รางวัล และควรค่าแก่การอ่านเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตจิตใจ และความคิดที่นักเขียนหญิงนำเสนออย่างสร้างสรรค์ กล่าวโดยรวมจึงยังไม่มีนวยนิยายที่มีคุณสมบัติถึงมาตรฐานข้างต้น

นางกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวว่า ผลงานในปีนี้มีองค์ประกอบไม่ครบองค์ที่สมบูรณ์ของนวนิยาย อย่างเช่น ขาดพลังของเนื้อหา อ่อนพลังของภาษา หรือ ขาดรส
ของอารมณ์ จึงน่าเสียดายว่าไม่มีผลงานที่ไปได้ถึงจุดหมายและทำได้อย่างสมบูรณ์ จึงไม่มีผู้ได้รับรางวัลในปีนี้

เนื่องด้วยรางวัลชมนาด ยึดมั่นในวัตถุประสงค์หลักของโครงการทั้ง 4 ประการ คือ 1. เปิดโอกาสให้นักเขียนหญิงได้แสดงออกถึงความสามารถและชิ้นเชิงในการเขียน 2.ส่งเสริม เผยแพร่ และผลักดันผลงานของสตรีไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สากล 3.ยกระดับวรรณกรรมไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเภท และ 4. สนับสนุน ปลูกฝังให้คนไทยรักการอ่านและมีความริเริ่มที่จะเขียน จึงเห็นสมควรว่า เงินรางวัลในปีนี้จะถูกนำไปใช้้ในการพัฒนาวงการวรรณกรรมไทย ด้วยการสนับสนุนการอ่านเขียน ผ่านการจัดโครงการค่ายอบรมเสวนา เกี่ยวกับการพัฒนางานเขียนของนักเขียนหญิงให้แก่ผู้ที่สนใจ

นางกนกวลี กล่าวว่า โครงการอบรมเสวนานี้จะพูดคุยกันถึงประเด็นพลังของงานวรรณกรรมและแนวทางในการสร้างผลงานการเขียนออกสู่ผู้อ่านได้อย่างไรให้เกิดพลังด้านใดด้านหนึ่งต่อสังคม

“นักเขียนสตรีมีไม่น้อยในสังคมไทย เราหวังที่จะเห็นงานเขียนของนักเขียนเหล่านี้สามารถถ่ายทอดมุมมองของผู้หญิงผ่านงานวรรณกรรมได้ดียิ่งขึ้น เพราะผู้หญิงคือเพศที่มีบทบาทสำคัญในสังคมครอบครัวและสังคมในวงกล้าง และหวังให้ผู้อ่านได้มองเห็นความรู้สึกนึกคิดและพลังของผู้หญิงได้มากขึ้นผ่านงานวรรณกรรม ไม่ว่านักเขียนหญิงที่เข้าร่วมโครงการจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงหรือไม่ก็ตาม”

 


นางกนกวลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งของโครงการนี้จะมีเหล่านักเขียนที่ประสบความสำเร็จมาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนแนวทางในการทำงานเขียนให้แก่นักเขียนหน้าใหม่และผู้เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังจะมีนักวิชาการด้านวรรณกรรมมาให้ความรู้เกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมผู้หญิงทั่วโลก ที่ได้สร้างผลงานวรรณกรรมที่ส่งแรงกระเพื่อมถึงสังคมโลก

“เราหวังว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยสนับสนุนให้นักเขียนหญิงสามารถผลิตงานวรรณกรรมที่มีศักยภาพและพลังออกไปสู่สากลได้ และถือเป็นการยกระดับวงการวรรณกรรมไทยตามที่จุดประสงค์ของรางวัลชมนาด”

สำหรับผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดครั้งที่ 8 ทั้งหมด 31 ท่าน สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ในการอบรมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยผู้ที่ลงทะเบียนก่อนจะได้รับสิทธิ์ก่อน และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้กับนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

 

 

You may have missed