“วราวุธ” เผยความสำเร็จรับ “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” “ปลัดจตุพร” สั่ง “กรมทะเล” เตรียมแนวทางจัดการทุกมิติ
นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันป่าชายเลนแห่งชาติ โดยในปีนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้งดจัดกิจกรรมเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปรียบ “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” เป็นวันที่ร่วมกันยินดีกับความสำเร็จที่ได้ช่วยกันทำให้ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น ส่วนนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหาแนวทางการสร้างมาตรฐานจัดการป่าชายเลนแบบครบทุกมิติ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ผืนป่าชายเลนประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีความสมบูรณ์และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากการสำรวจและอ่านแปลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับ GISTDA เมื่อปี 2563 พบว่า พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ 1.737 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นราว 2 แสนไร่ เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งมีเพียง 1.53 ล้านไร่ ซึ่งตนพูดได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่า ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกคนที่ช่วยกันดูแล รักษา และฟื้นฟู จนผืนป่าชายเลนกลับคืนสภาพสมบูรณ์ในหลายพื้นที่ ซึ่งล่าสุด ก็ได้มีการเปิดตัว “แคนยอนบ้านท่าเลน จังหวัดกระบี่” ซึ่งเป็นผืนป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่เกิดจากการดูแลของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอนุรักษ์และดูแลป่าชายเลน สำหรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตนได้กำชับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแล ให้นำแนวพระราชดำรัสดังกล่าว เป็นหลักแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลน ควบคู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” เปรียบเสมือนวันที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน จึงเป็นวันที่เราทุกคนจะได้มาร่วมกันชื่นชม ยินดีกับความสำเร็จที่ได้ช่วยกันทำให้ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น โดยปีนี้เพิ่มขึ้น 2 แสนไร่ ปีหน้าก็หวังว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นนี้ไปอีกเรื่อย ๆ ตนเชื่อมั่นในความมุ่งมั่นและตั้งใจของพี่น้องประชาชนที่จะช่วยกันดูแลและฟื้นฟูป่าชายเลนให้คงความสมบูรณ์และยั่งยืนเช่นนี้ ตลอดไป ” นายวราวุธ กล่าว
สำหรับการจัดกิจกรรม “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ในปีนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ยังคงเป็นข้อจำกัดในการจัดกิจกรรม อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ เกี่ยวกับผลงานความสำเร็จของพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันดูแลผืนป่าชายเลนจนทำให้จำนวน
พื้นที่ป่าในภาพรวมเพิ่มขึ้น การปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลน รวมถึง กิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน ได้แก่ การก่อสร้างสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร. 9 บนเนื้อที่กว่า 518 ไร่ ในจังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนทั่วโลก และเป็นแหล่งเรียนรู้และวิจัยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนทั่วประเทศ และการผลักดันให้ผืนป่าชายเลนจังหวัดระนอง ที่มีความสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รวมถึง มีระบบนิเวศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เสนอเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งจะให้นานาชาติได้เห็นถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และสะท้อนความร่วมมือของพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันดูแลอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ ตนได้ให้นโยบายกับนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ถึงแนวทางในการถอดบทเรียนจากกิจกรรมที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการทำงาน รวมถึง การพัฒนาศักยภาพและความรู้ของเจ้าหน้าที่ การหาพันธมิตรภาคเอกชนและสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูและดูแลป่าชายเลน ซึ่งภายหลังจากวิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ตนเชื่อว่าพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยจะต้องรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชายไทยและชาวต่างชาติซึ่งต้องเตรียมมาตรการและแนวทางเพื่อรองรับและสร้างมาตรฐานในบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปลัด ทส.กล่าว
https://www.youtube.com/watch?v=BnuAtHFDooE