แพทย์เสียงแตก “หลักฐานไม่ชัดเจน” ควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงติดโควิด-19 มากขึ้น

แพทย์เสียงแตก “หลักฐานไม่ชัดเจน” ควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงติดโควิด-19 มากขึ้น

 

สถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ของโรคจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้พลเมืองโลกตื่นตระหนกและระแวงภัยรอบตัว หนึ่งในข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นล่าสุด คือประเด็น การพ่นควันบุหรี่และไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นช่องทางแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งหลายหน่วยงานออกมาให้ข้อมูลด้านนี้โดยการเชื่อมโยงกับสถิติผู้ป่วยเพศชายได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รุนแรงถึงตายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิงนั้น มีปัจจัยด้านประวัติสูบบุหรี่ทั้งในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวเนื่องด้วย

นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนตั้งสมมติฐานว่าอาจเป็นเพราะผู้ชายมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่มากกว่าเพศหญิงเพราะประชากรชายเกือบสองในสามสูบบุหรี่เปรียบเทียบกับผู้หญิงที่มีอัตราการสูบบุหรี่น้อยกว่า 5% ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนกล่าวว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนทฤษฎีนี้เนื่องจากมีเพียงร้อยละ 1.4 ของการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาไวรัสในจีนที่เป็นผู้สูบบุหรี่


ขณะที่ หน่วยงานสาธารณสุขและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายรายก็ให้เห็นความว่าไม่มีหลักฐานชี้ชัดที่จะสรุปข้อสันนิษฐานที่เกิดขึ้น โดยนางโรซานนา โอ คอนนอร์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) ระบุถึงรายงานของ PHE ในปี 2018 ที่ยืนยันว่าไอของบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่รอบข้าง และกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจากการสัมผัสกับไอละอองของบุหรี่ไฟฟ้า

ด้านนักวิชาการด้านการแพทย์ ดร.นีล เบโนวิตส์ (Dr.Neal Benowitz) ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซาน ฟรานซิสโก แย้งว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าควันบุหรี่และไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าช่วยกระจายเชื้อไวรัสได้ ยกเว้นกรณีผู้พ่นควันมีอาการไอและจามร่วมด้วย

ดร.เบโนวิตส์ เผยกับ เมลล์ออนไลน์ เวบไซต์ข่าวของอังกฤษว่า ปริมาณน้ำมูกเสมหะและน้ำลายใน ควันและไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าที่พ่นออกมานั้นมีน้อยมากจนไม่น่าจะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อร้ายนี้ได้ โดยอธิบายว่า “ควันที่พ่นจากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะประกอบด้วย อนุภาคขนาดเล็กมากเป็นเหมือนละอองน้ำ ที่มีสารโพรไพลีนไกลคอล (propylene glycol) สารกลีเซอรีน (glycerin) และสารแต่งรสแต่งกลิ่นเท่านั้น ไม่มีสารคัดหลั่งอย่างน้ำลายของคนสูบบุหรี่กระจายออกมาด้วย” โดยสารเคมีที่ ดร.เบโนวิตส์ เอ่ยถึง ทั้ง โพรไพลีนไกลคอล และ กลีเซอรีน ได้รับการรับรองจากทางองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ว่ามีความปลอดภัยในการใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและยา เช่นเดียวกับสารแต่งกลิ่นและรส ที่ปลอดภัยใช้กับอาหารสำหรับบริโภคทั่วไปได้

ดร.เบโนวิตส์ ยังย้ำว่า ควันบุหรี่ไฟฟ้ามีลักษณะเป็นไอ ที่ระเหยได้รวดเร็วกว่าละอองน้ำลายหรือเสมหะที่ออกมาจากการไอจามทั่วไป โดยกล่าวว่า “ส่วนของควันที่เกิดจากไอระเหยในบุหรี่ไฟฟ้านั้นจะระเหยไปอย่างรวดเร็วเพราะเป็นอนุภาคขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับอนุภาคขนาดใหญ่กว่าที่ออกมาพร้อมกับการไอหรือจามและลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่า ผมจึงไม่คิดว่า ควันจากบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ยกเว้นมีการไอหรือจามขณะพ่นควันออกมา” (อ้างจากบทสัมภาษณ์ใน www.mailonline.com)

ข้อมูลจากเวปไซด์ขององค์การอนามัยโลก (WHO ) ก็สรุปเพียงว่าผู้สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 เนื่องจากนิ้วที่คีบบุหรี่อาจสัมผัสกับริมฝีปากซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ในการแพร่เชื้อไวรัสจากมือสู่ปาก ส่วนการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามักนิยมใช้ร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดการแพร่เชื้อระหว่างกันได้ รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อาทิ โรคหอบหืด อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป และคนสูบบุหรี่มานานหลายปี ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสี่ยงอันตรายมากขึ้นอีก

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปใดๆ แต่การสูบบุหรี่ก็อันตรายอยู่แล้ว ยิ่งต้องไปรวมกันอยู่ในสถานที่จำกัด เช่น พื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่สูบบุหรี่ ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงได้ ดังนั้นแล้ว เลิกบุหรี่ได้ก็จะดีที่สุดต่อสุขภาพ

# # # #

You may have missed