เที่ยวสนุกเขตพระนคร ยล “เสาชิงช้า” แลย่านเก่า-สะดือเมืองกรุงเทพฯ
ไม่ว่าจะยุคไหนๆ ก็ตาม หากพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวใจกลางเมืองกรุงเทพฯ หลายคนก็คงจะนึกถึง สยามสแควร์สุขุมวิท หรือสีลม ที่เป็นทั้งย่านธุรกิจ การค้าขาย แหล่งรวมแฟชั่น เรียกได้ว่าแวะมา “ชิม-ช้อป-ใช้” ได้อย่างบันเทิงอุรา ทว่าในวันนี้ผู้เขียนจะพาบรรดาคนชอบเที่ยวทั้งหลาย มาย้อนอดีตสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความเก่าแก่โบร่ำโบราณ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองกรุง นั่นก็คือ “เสาชิงช้า” หลายท่านๆ คงได้เคยนั่งรถเมลล์หรือไม่ก็เคยขับรถผ่าน หรือเดินเล่นกินลมชิลๆ กันมาบ้างแล้ว น้องๆ วัยรุ่นหลายคน อาจจะยังแค่รู้จักชื่อว่าที่นี่คือเสาชิงช้า ทว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญเพราะที่นี่ยังเป็น “สะดือเมือง” หรือจุดศูนย์กลางของพระนคร ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย
สะดือเมืองนั้นถูกกำหนดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1 หลังจากที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตของพระนครออกไปทางตะวันออก และมีการขุดคลองรอบกรุงเกิดขึ้น และพระองค์จึงได้กำหนดจุดศูนย์กลางของพระนคร หรือสะดือเมืองแห่งนี้ขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ รวมทั้งเสาชิงช้า
“เสาชิงช้า” ถือเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของกรุงเทพฯ มาจนทุกวันนี้ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็นาจะเรียกว่า “แลนด์มาร์ค” รูปลักษณ์ของเสาชิงช้านั้น เป็นเสาไม้ขนาดใหญ่สีแดงสด ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ มีความสูง 21.15 เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลมอันมีความงดงาม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทาสีแดงชาด เสาชิงช้ายังเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้น เพื่อใช้ในการประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธี ”ตรียัมปวาย ตรีปวาย” ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เมื่อครั้งในอดีตจวบจนปัจจุบัน
ทั้งนี้เสาชิงช้าที่พวกเราได้เห็นกันในปัจจุบันนั้น เป็นเสาต้นใหม่ ซึ่งได้มีการจัดพิธีสมโภขน์เสาชิงช้าใหม่ไปเมื่อวันที่ 11-13 กันยายน 2550 โดยตัวไม้เป็นไม้สักทองมาจากเมืองแพร่นั่นเอง
ใครที่จะมาเที่ยวถ่ายภาพ หรือแวะมาเช็คอินที่เสาชิงช้า สามารถเดินทางมายังย่านเสาชิงช้าด้วยรถโดยสาร ขสมก. หากมาจากฝั่งพระปิ่นเกล้า ก็จับรถเมล์โดยสารสาย 42 ถ้ามาจากฝั่งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็ขึ้นรถเมล์โดยสารสาย 12 นอกจากนั้นยังมีสาย 10, 508 หรือนั่งรถเมล์โดยสารสายอื่นๆ ที่ระบุว่าผ่านถนนราชดำเนิน แล้วเดินไปตามถนนดินสอประมาณ 300 ม. ก็จะถึงเสาชิงช้าแล้วละจ้า
………………………………………………………………………………..
นักเดินทาง : รายงาน