TIJ ผนึก 4 ภาคี นำเสนอ “เครื่องมือ” ทางเลือกเพื่อการสืบสวนสอบสวนที่ส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน

TIJ ผนึก 4 ภาคี นำเสนอ “เครื่องมือ” ทางเลือกเพื่อการสืบสวนสอบสวนที่ส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน

 

กรุงเทพฯ, 3 กันยายน2562 – สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จับมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สมาคมเพื่อการยุติการทรมาน (Association for the Prevention of Torture – APT) และศูนย์สิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ (NCHR) ร่วมจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติว่าด้วยอนาคตของการสืบสวนสอบสวน: การซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวน และมาตรการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเพื่อพัฒนาระเบียบปฏิบัติการสอบสวนเทียบเท่าสากล ส่งเสริมหลักนิติธรรมควบคู่ หลักสิทธิมนุษยชน
หัวใจของความสำเร็จของคดีอาญาประการหนึ่ง คือการมีการสอบสวนที่ดี มีการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล หากการสอบสวนในเบื้องต้น ตั้งแต่ขั้นตอนจับกุมเริ่มจากการกระทำที่กระทบสิทธิมนุษยชนก็จะทำให้คดีนั้นๆ ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นในความถูกต้อง เที่ยงตรง และเป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม


TIJ ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงมาตรฐานระหว่างประเทศ และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับกระบวนการยุติธรรม จึงได้ร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สมาคมเพื่อการยุติการทรมาน (Association for the Prevention of Torture – APT) และศูนย์สิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ (NCHR) ร่วมจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติว่าด้วยอนาคตของการสืบสวนสอบสวน: การซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวน และมาตรการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเพื่อพัฒนาระเบียบปฏิบัติการสอบสวนเทียบเท่าสากล ส่งเสริมหลักนิติธรรมควบคู่หลักสิทธิมนุษยชน ในการนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวปาฐกถาเปิดงานว่า “สิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม คือ การทำความจริงให้ปรากฏโดยปราศจากข้อสงสัย และการสืบสวนสอบสวนซึ่งถือเป็นต้นน้ำในการแสวงหาและพิสูจน์ความจริง จึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม”


การประชุมดังกล่าว มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอภิปราย เช่น Mr. Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโทคมวิชช์ พัฒนรัฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง Mr. Juan E. Mendez อดีตผู้ตรวจการพิเศษด้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ และ ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมงาน เช่น ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนที่ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนกว่า 100 คน เข้าร่วมการประชุม
Mr. Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวระหว่างการบรรยายเปิดงานว่า จากผลการศึกษาพบว่ากระบวนการสอบสวนสืบสวนที่ใช้การทรมานหรือข่มขู่ผู้ต้องสงสัย ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งยังทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่น่าเชื่อถือ สอดคล้องกับความเห็นของ Mr. Juan E. Mendez อดีตผู้ตรวจการพิเศษด้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุว่า การทรมานระหว่างการสอบสวนจะทำให้ผู้ต้องสงสัยยอมตอบในสิ่งที่ทำให้ผู้สอบสวนพอใจ แต่เป็นข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ ทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน


ด้วยเหตุนี้ การพัฒนา “แนวทางการปฏิบัติสากลว่าด้วยการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวนและมาตรการการป้องกันที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งเปรียบเหมือน “เครื่องมือ” ทางเลือก จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในการสืบสวนสอบสวน โดยช่วยกำหนดแนวทางการสืบสวนสอบสวนคดีความทางอาญาให้มีประสิทธิภาพโดยปราศจากการบีบบังคับ และอาจทำให้ปัญหาที่เป็นผลจากการถูกทรมานระหว่างสืบสวนสอบสวนลดลง
นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ร่วมมือกับศูนย์สิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ในการจัดฝึกอบรมในเรื่องของการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และเชื่อว่า ทุกหน่วยงานสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการอบรมนี้ไปประยุกต์ใช้ในการสืบสวนสอบสวนในรูปแบบทางเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยกันขับเคลื่อนให้นำแนวทางดังกล่าวไปใช้ต่อไป
ในขณะที่ พันตำรวจโท คมวิชช์ พัฒนรัฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า DSI ได้มีการพัฒนาบุคลากรในด้านการสืบสวนสอบสวนตามแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยมีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญมาร่วมประชุมและร่างหลักสูตร พร้อมจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ คาดว่าในช่วงต้นปี 2563 จะสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างจริงจัง และจะร่วมกับ TIJ ในการประเมินและพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเพื่อนำเสนอในเวทีระดับนานาชาติถึงความคืบหน้างานสืบสวนสอบสวนในประเทศไทยต่อไป


สำหรับกระบวนการสอบสวนที่เน้นการซักถาม หรือ Investigative Interviewing จะให้ความสำคัญกับความเป็น “มนุษย์” ดังนั้น เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานจะต้องรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริง (Fact) มากขึ้น โดยแบ่งขั้นตอนการซักถามออกเป็น 6 ขั้นตอน คือ (1) การวางแผนและเตรียมการสอบสวน (Planning and Preparation) (2) การแนะนำตัวและส่งเสริมสิทธิของผู้ต้องสงสัย (Introduction and Support) (3) การรับฟังสิ่งที่ผู้ต้องสงสัยบอกเล่า (Free Account) (4) การตั้งคำถามเพื่อการเก็บข้อมูลอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และเป็นธรรม (Clarification and Disclosure) เพื่อให้ทราบถึงมูลเหตุจูงใจ ต้นตอของปัญหา (5) การปิดการสัมภาษณ์ (Closure) โดยให้ยึดมั่นในการปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสุดท้าย (6) การที่ผู้สอบสวนจะต้องประเมินตนเอง (Evaluation) ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะมุ่งเน้นการสืบสวนสอบสวนเพื่อแก้ไขมากกว่าการสืบสวนสอบสวนเพื่อกล่าวโทษ
แนวทางการปฏิบัติสากลว่าด้วยการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวนนี้ เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของสหประชาชาติ และเป็นไปตามกรอบแนวปฏิบัติสากลด้านการป้องกันการทรมาน ซึ่งกำลังพัฒนาเป็นมาตรฐานการปฏิบัติของ United Nations Police (UNPOL) นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ได้นำวิธีการดังกล่าวไปใช้ในการสอบสวนคดีแล้ว ในขณะที่มีการจัดฝึกอบรมแนวทางดังกล่าวในอินโดนีเซีย เวียดนาม และจีนด้วย


นอกจากนี้ ศ.ณรงค์ ใจหาญ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ได้ให้ความเห็นถึงการจะนำแนวทางการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวนมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยว่า หน่วยงานรัฐจะต้องดำเนินการฝึกอบรมให้ทราบถึงเทคนิคในการสืบสวนสอบสวนด้วยการซักถาม และช่วยให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนก็จำเป็นต้องเตรียมตัวและข้อมูลก่อนสอบปากคำ และต้องมีเวลาเพียงพอในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้อง รอบคอบ ครบถ้วน และยุติธรรม
TIJ หวังว่า ผลจากการประชุมในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เกี่ยวกับ “แนวทางการปฏิบัติสากลว่าด้วยการซักถามเพื่อการสืบสวนสอบสวนและมาตรการการป้องกันที่เกี่ยวข้อง” หรือ “เครื่องมือ” ทางเลือกแห่งอนาคต โดยมุ่งหวังให้ เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานจะเข้าใจถึงหลักการ และแก่นแท้ในการนำ “เครื่องมือ” ดังกล่าวมาปรับใช้ในการสืบสวนสอบสวน ซึ่งจะช่วยยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นกระบวนการที่คำนึงถึง “หลักสิทธิมนุษยชน” มากขึ้น เพราะเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หลักความเป็นธรรม และหลักนิติธรรม จะทำให้ประชาชนก็จะเกิดความเชื่อมั่น จนก่อเกิดเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ “เข้าถึง” ประชาชนอย่างแท้จริง

 

You may have missed