กสอ. คืนความสุข SMEs เปิดคลินิกอุตสาหกรรมเคลื่อนที่ ขานรับ 7 มาตรการ กระทรวงอุตฯ “ทำทันที” ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู ช่วยผู้ประสบอุทกภัย 4 จังหวัดภาคอีสาน

จังหวัดอุบลราชธานี 4 ตุลาคม 2562 – นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เปิดคลินิกอุตสาหกรรมเคลื่อนที่ ขานรับ 7 มาตรการ
ของกระทรวงอุตสาหกรรม “ทำทันที” ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู ช่วยผู้ประสบอุทกภัย 4 จังหวัดภาคอีสาน
พร้อมเยียวยาผู้ประกอบการ 190 ราย ในโครงการคืนความสุข SMEs ซ่อมเครื่องจักรโรงงาน ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า เปลี่ยนน้ำมันเครื่องฟรี และดำเนินการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยผู้ประกอบการที่กู้เงินในโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย จำนวน 30 ราย
มูลค่ากว่า 12 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับมอบนโยบายและขับเคลื่อนตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย 7 มาตรการ “ทำทันที” ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโรงงาน เอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจ โดยได้จัดทำโครงการคืนความสุข SMEs (SMEs Happy Work and Happy Life) ขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน 7 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูสถานประกอบการเอสเอ็มอี
โดยการจัดกิจกรรม Big Cleaning เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้แก่สถานประกอบการ กิจกรรม Maintenances ซ่อมแซม ปรับปรุง ฟื้นฟู อุปกรณ์ เครื่องจักร รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กิจกรรม Renovate (ปรับปรุง) ฟื้นฟูอาคาร สถานประกอบการ และระบบสาธารณูปโภค ขณะที่วิสาหกิจชุมชน มีการจัดกิจกรรมปรับปรุงฟื้นฟูผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตให้กลับมาผลิตและจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ ซึ่งเน้น
Design & Product Renovate การออกแบบ บรรจุภัณฑ์ ฉลากสินค้า หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ
การแปรรูป โดยเชื่อมโยงศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้
ยังมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อผลักดันและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและการบริการของรัฐอื่น ๆ เช่น โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว
และหัตถกรรมไทย ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้รับการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ และเป็นลูกหนี้รายใหม่ จำนวน 30 ราย รวมจำนวนวงเงินกู้กว่า 12 ล้านบาท
“กสอ. มีความเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องผู้ประกอบการและประชาชนผู้ประสบภัยทุกคน
โดยจากการสำรวจข้อมูลความเสียหาย พบว่าภาคอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายทางตรง จำนวน 190 ราย
คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ซึ่งนอกจากการเข้าไปช่วยเหลือสถานประกอบการตามโครงการคืนความสุข SMEs แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้เปิดคลินิกอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยหลังน้ำลด จำนวน 4 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2562 ซึ่งตั้งจุดให้บริการ ณ วัดบ้านท่าบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 2
วันที่ 5 – 6 ตุลาคม 2562 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
ครั้งที่ 3 วันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2562 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเขื่องคำ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
และครั้งที่ 4 วันที่ 7 – 8 ตุลาคม 2562 ณ ลานสาเกตุ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีการให้บริการคำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยอย่างครบวงจร ทั้งด้านการเงินเกี่ยวกับการพักชำระหนี้ และการอนุมัติสินเชื่อฉุกเฉินในอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษจาก SME Bank การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร การฟื้นฟู ปรับปรุง ทำความสะอาดสถานประกอบการให้กลับมาดำเนินกิจการได้โดยเร็ว นอกจากนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปยังมีบริการตรวจเช็คสภาพรถและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องฟรี ทั้งรถยนต์
และรถจักรยานยนต์ รวมถึงบริการตรวจเช็คและซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฟรี โดยหวังว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและประชาชนได้บ้าง พร้อมยืนยันว่ากระทรวงฯ จะดูแล ช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติโดยเร็ววัน”
นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ คณะฯ ได้ลงพื้นที่ บริษัท ทูฟาร่า รีนิวอัล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับผลกระทบ
จากเหตุอุทกภัยดังกล่าวด้วย โดย นางศิริพร เคหารมย์ เจ้าของกิจการกล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิต
และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ยาสีฟัน สบู่ และผลิตภัณฑ์สปา มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 90,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อบริษัทได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยน้ำได้ทะลักเข้าท่วมอาคารสถานประกอบการ วัตถุดิบในการผลิต เครื่องมือ / เครื่องจักร จมน้ำ ตู้โชว์สินค้า
ก็ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย การขนส่งสินค้าถูกตัดขาด ก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 1,500,000 บาท
“หากต้องเริ่มผลิตสินค้าล็อตใหม่ คาดว่าต้องใช้ต้นทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งทาง กสอ. ได้เข้ามาช่วยเหลือในการซ่อมแซมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ และช่วยทำความสะอาด
สถานประกอบการ รวมถึงให้เข้าโครงการพักชำระหนี้ของโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยเป็นเวลา 4 เดือน อีกทั้งยังลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป็นเวลา 1 ปีด้วย ทั้งนี้ ในตอนแรกไม่คิดว่ามูลค่าความเสียหายจะมากมายขนาดนี้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ได้แต่ทำใจยอมรับ
และถือว่ายังโชคดีที่มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือดูแล ซึ่งทำให้มีกำลังใจและคลายความกังวลไปได้มาก” นางศิริพร กล่าว
###
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4414-18 / เผยแพร่

You may have missed