วัชระขออสส.สั่งไม่ฟ้องอาญาแม่ลักนม3กล่องให้ลูกที่ศรีสะเกษเหมือนสั่งไม่อุทธรณ์โอ๊คฟอกเงินกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดานคร
(20 ก.ค.65)เมื่อเวลา 11.40 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และว่าที่ร้อยตรีสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ ยื่นหนังสือผ่านนางสาวดาเรศ ทองช่วย กลุ่มงานสารบรรณ ถึงนายสิงห์ชัย หนินซ้อน อัยการสูงสุด โดยอ้างถึง ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนหรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
จากกรณีที่นางสาวแจ่ม (นามสมมติ) อายุ 50 ปี ชาวบ้านชุมชนแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเนื่องจากก่อเหตุขโมยนม จำนวน 3 กล่อง ราคากล่องละ 13 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 39 บาท ที่ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งพื้นที่ตัวเมืองศรีสะเกษ เหตุเกิดเมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 16 ก.ค.65และอยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวนั้น
นายวัชระ กล่าวว่า เรื่องนี้มีลักษณะเป็นการพิจารณาคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ตามนัยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนหรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ข้อ 4 ความว่า
” ถ้าอัยการสูงสุดเห็นเองหรือมีความเห็นจากการเสนอเรื่องจากหัวหน้าพนักงานอัยการ ตามข้อ 5 ว่าการฟ้องคดีอาญาใดจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบความปลอดภัย หรือ ความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้อง แล้วแต่กรณี”
ประกอบกับสำนักงานอัยการสูงสุดมีตัวอย่างคดีที่พนักงานอัยการใช้ดุลยพินิจในการสั่งไม่ฟ้อง คดีอาญาโดยเหตุคดีไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนจำนวน 3 คดี อันเป็นที่ประจักษ์ว่าพนักงานอัยการไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ของพนักงานสอบสวนที่ต้องกล้าให้ความยุติธรรมกับคนยากคนจนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้สมกับที่เป็นทนายของแผ่นดินและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง มิใช่สั่งไม่ฟ้องในคดีความสำคัญที่ประชาชนข้องใจสงสัยเหมือนดังที่ผ่านมา เช่น คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร กว่า 9,900 ล้านบาท และนายพานทองแท้ ชินวัตร ได้รับเงินค่าหัวคิวโดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาท 1 ใบ และจำนวน 26 ล้านบาท 1 ใบ ซึ่งอัยการสั่งไม่อุทธรณ์ เป็นต้น