วัชระร้องชวน-พรพิศ เร่งแก้ปัญหาจุดอับเสียงในห้องประชุมสุริยันอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้ดูสง่างามและคุ้มค่ากับงบกว่า1.2 หมื่นล.


(22 มิ.ย.65)เมื่อเวลา14.55น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและนางพรพิศ เพชรเจริญขอให้แก้ไขระบบเสียงภายในห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง วงเงิน แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบด้วยงบประมาณจำนวน 12,280,000,000 บาท
สำหรับห้องประชุมสุริยันภายในอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่มีไว้เพื่อใช้สําหรับสนับสนุนการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภาเข้าไปทำหน้าที่กลั่นกรองและออกกฎหมายปกครองบ้านเมือง รวมทั้งตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลนั้น
จากการเปิดใช้ห้องประชุมสุริยันจนถึงปัจจุบัน ตนและนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบมาตั้งแต่ต้น ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าระบบเสียงภายในห้องประชุมสุริยัน มีปัญหาด้านกายภาพและการรับฟังที่ไม่ชัดเจนมีพื่นที่บางส่วนที่เมื่อประธานในที่ประชุมหรือสมาชิกในห้องประชุมพูดอภิปราย สมาชิกที่นั่งประชุมจะฟังได้ไม่ชัดเจนหรือได้ยินเสียงเพียง 30% เท่านั้น  ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพของห้องประชุมสุริยัน ได้แก่ ตัวของพื้น/ผนัง ฝ้า เพดาน เกือบทั้งหมดใช้ไม้สักเป็นวัสดุหลักในการตกแต่ง Finishing ซึ่งเป็นวัสดุที่มีค่า SAC (Sound Absorption Coefficient) ที่อาจไม่เหมาะสมกับงานห้องประชุมที่มีปริมาตรห้องเกือบ 40,000 ลูกบาศก์เมตร รวมถึงระบบประกอบอาคารในส่วนระบบปรับอากาศที่ใช้หัวจ่ายลมเย็นเป็นแบบ Round Jet Air Diffuses จึงรวมกันเป็นเหตุให้มีปัญหาด้านคุณภาพของการได้ยินโดยรวมของห้องประชุมสุริยันฟังเสียงที่ไม่ชัดหรือไม่ได้ยิน
ดังนั้น ปัญหาคุณภาพของการได้ยินนี้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับงาน ICT หรือ โสตทัศนูปกรณ์ของผู้รับจ้างงานคือ บริษัท แอ๊ดวานซ์อินฟอร์ เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (AIT) วงเงินจำนวน 3,351,000,000 บาท เนื่องจากผู้รับจ้างงาน ICT ทำการ Field Test เพื่อตรวจวัดค่าทาง Acoustic ของห้องประชุมสุริยันก็พบว่า ค่า ความก้องสะท้อน (RT60) และค่าดัชนีการส่งผ่านเสียงพูด (STI) มีค่าเกินและต่ำกว่ามาตรฐานด้านอะคูสติก สำหรับห้องประชุมขนาดปริมาตร 40,000 ลูกบาศก์เมตรตามลำดับค่า RT60 และ STI ที่วัดได้จริง จึงสอดคล้องกันกับปัญหาคุณภาพการได้ยินในห้องประชุมสุริยันที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา คือต้องแกะผนังและฝ้าไม้สักบางส่วนออกมาเพื่อใส่วัสดุ Absorption เพิ่มในผนัง/ฝ้าเพดาน ให้ค่าความก้องสะท้อน RT60 ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ค่า STI (ค่าดัชนีการส่งผ่านเสียงพูด) ดีขึ้น

นายวัชระ กล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ปฏิบัติหน้าที่ภายในห้องประชุมสุริยันอย่างยอดเยี่ยมสามารถได้ยินเสียงการประชุมและเข้าใจได้ 100% ทั้งที่ที่นั่งบางแห่งภายในห้องประชุมตามแผนผังและตามเกณฑ์มาตรฐานที่มีการทดสอบโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ปรากฏว่าตารางที่แสดงแถบสีแดงจางอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี หรือมีตั้งแต่ได้ยินไม่ชัด (เสียงหายไป) จนถึงได้ยินแต่ความชัดเจนมีเพียง 30% เท่านั้น ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ยินเสียงชัดเจนทั้งห้องประชุม จึงขอเสนอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขจุดบกพร่องนี้โดยด่วนที่สุด เพื่อความสง่างามของสภานิติบัญญัติของชาติ