นักวิจัย วช. สำรวจแนวโน้มน้ำท่วม – การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ตุลาคมนี้

วันนี้ (11 ตุลาคม 2564) นักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 2 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) วิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากพายุเตี้ยนหมู่ ในเดือนตุลาคมนี้ เผยสถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาแนวโน้มดีขึ้น แต่ภาคกลางตอนล่าง และตะวันออกมีโอกาสรับอิทธิพลน้ำไหลหลากจากตอนบนสูงขึ้น ปริมาณน้ำไหลเข้าทุกเขื่อนแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ยังคงระบายน้ำขั้นต่ำ ลดผลกระทบ ย้ำติดตาม อิทธิพลพายุและหย่อมความกดอากาศต่ำแถบมหาสมุทรแปซิฟิก จากกรมอุตุฯ คาดพาดผ่านบางภูมิภาคของไทยเร็ว ๆ นี้

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทยยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต หน่วยงานหลายภาคส่วนยังคง ระดมสรรพกำลังเร่งแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาความเสียหาย หลังพายุเตี้ยนหมู่ (Dianmu) พัดพาดผ่านเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง และเกิดวิกฤติน้ำท่วมตามมาในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่

รศ.ดร.อารียา ฤทธิมา ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยภายใต้กิจกรรม CORUN โครงการวิจัยเข็มมุ่ง แผนงานการบริหารจัดการน้า ระยะที่ 2 ได้เปรียบเทียบพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่ชลประทานของโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ โดยอาศัยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม COSMO–SkyMed–4 (GISTDA) ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 2 และ 8 ตุลาคม 2564) พบว่า พื้นที่ในเขตชลประทานที่ประสบภัยน้ำท่วมคิดเป็น 629,184 ไร่ ซึ่งลดลงจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (942,694 ไร่) นอกจากนี้ พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในบริเวณทางภาคเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี แนวโน้มพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมยังคงเพิ่มสูงขึ้นจากอิทธิพลของน้ำไหลหลากจากทางตอนบนของประเทศลงมาในเขตภาคกลางตอนล่าง และบริเวณภาคตะวันอ อกของประเทศ รวมทั้งกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่โครงการชลประทานอยู่ในพื้นที่ 4 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ดบางยี่หน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม ซึ่งส่วนใหญ่รับน้ำหลากจากพื้นที่ทางตอนบน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรายวัน (Reservoir Inflow) ของเขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล (BB) เขื่อนสิริกิติ์ (SK) เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (KNB) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (PS) และเขื่อนทับเสลา (TS) พบว่า อิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ได้ส่งผลต่อปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่เพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลสูงสุดถึง 187.34 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สูงสุดถึง 209.29 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำไหลเข้าของทุกเขื่อนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน เป็นต้นมา เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำล่วงหน้าโดยอาศัยเทคนิคการเรียนรู้แบบเครื่อง (Machine Learning) และผลการพยากรณ์ฝนรายสองสัปดาห์ล่วงหน้าด้วยแบบจำลอง WRF–ROMS (CFSV2) บริเวณพื้นที่เหนือเขื่อนในเดือนตุลาคมของคณะนักวิจัย

นอกจากนี้ เมื่อทำการวิเคราะห์แนวทางการบริหารเขื่อนในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข้อมูลปริมาณการระบายน้ำรายวัน (Reservoir Outflow) พบว่า ทุกเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ยังคงกำหนดการระบายน้ำขั้นต่ำ เพื่อลดผลกระทบทางด้านท้ายน้ำ ยกเว้นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนทับเสลาที่มีการปรับเพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากสถานะปริมาตรน้ำเก็บกักที่เต็มความจุหลังเกิดพายุเตี้ยนหมู่ โดยปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สูงสุดถึง 104.28 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และได้มีการปรับลดปริมาณการระบายน้ำลงอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับแนวโน้มการระบายน้ำของเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาที่มีการปรับลดปริมาณการระบายน้ำลงเหลือ 2,577 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา

แม้สถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสถานการณ์น้ำในประเทศไทยช่วงปลายฤดูฝนปี 2564 นี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากสัปดาห์นี้อย่างไร จากอิทธิพลของพายุและหย่อมความกดอากาศต่ำในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะเคลื่อนตัวพาดผ่านบางภูมิภาคของประเทศไทยในเวลาอันใกล้นี้

You may have missed