นานาชาติแนะแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ด้วยแนวทางการลดอันตราย

นานาชาติแนะแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ด้วยแนวทางการลดอันตราย

ขณะที่หลายประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลกกำลังหาทางรับมือกับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่นั้น การแก้ไขปัญหาอันตรายจากการสูบบุหรี่ก็ยังถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกไม่อาจละเลยได้ เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนบนโลกไปกว่า 7 ล้านรายในแต่ละปี ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ในเดือนตุลาคมปีนี้ ประเทศสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Conventional on Tobacco Control: FCTC) ขององค์การอนามัยโลกจึงมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมภาคีสมาชิก (conference of party) หรือ COP ครั้งที่ 9 ซึ่งแต่เดิมต้องถูกจัดขึ้นเมื่อปลายปี 2563 แต่ด้วยการระบาดหนักของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้การประชุม COP 9 ถูกเลื่อนมาจัดในปีนี้ผ่านระบบออนไลน์แทน

ประเด็นสำคัญของการประชุม COP ทุกครั้งที่ผ่านมาคือให้แต่ละประเทศมารายงานความคืบหน้าในการควบคุมยาสูบตามแนวทาง MPOWER (Monitor, Protect, Offer, Warn, Enforce, and Raise) ซึ่งเป็นแนวทางดั้งเดิมของ WHO แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการลดอันตราย (Harm Reduction) ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า และยาสูบแบบไม่เผาไหม้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่อาจจะช่วยเซฟชีวิตผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคน และในจำนวนนั้น กว่า 1.6 ล้านคนคือผู้สูบบุหรี่ในภูมิภาคเอเชียที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ และในปีนี้คาดการณ์ว่า WHO ก็ยังคงจะละเลยต่อแนวทางการลดอันตรายจากยาสูบต่อไป

เมื่อเร็วๆ นี้จึงมีการจัดงานสัมมนาออนไลน์ Asian Harm Reduction Forum (AHRF) ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ ปี 2560 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ผู้กำหนดนโยบายและเครือข่ายผู้บริโภคมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นําเสนองานวิจัย และให้ความรู้กับสังคมโลกเกี่ยวกับแนวทางในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ หรือ Tobacco Harm Reduction ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมมาตรการควบคุมบุหรี่แบบดั้งเดิมของ WHO ในการสัมมนาระบุว่า การลดอันตราย เป็นกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบหรือความเสี่ยงที่เกิดจากกิจกรรมที่ต่างๆ เช่นการใช้สารเสพติด การดื่มแอลกฮอล์ หรือการขับรถ โดยมุ่งเน้นที่การทำความเข้าใจพฤติกรรมที่หลากหลายของผู้บริโภคและหาแนวทางช่วยลดความเสี่ยง แทนการห้ามหรือสั่งให้เลิกทำกิจกรรมนั้นๆ แนวทางการลดอันตรายจะเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่นการสวมหมวกกันน๊อกเพื่อลดอันตรายจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้กับผู้ขี่จักรยานยนต์ โดยไม่ห้ามหรือแบนการใช้จักรยานยนต์ซึ่งยังคงเป็นพาหนะที่จำเป็นต่อผู้ใช้

เช่นเดียวกับการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่ติดนิโคติน ทำให้ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้โดยง่าย การอนุญาตให้ผู้สูบบุหรี่มีทางเลือกในการรับนิโคติน แต่ลดอันตรายจากควันซึ่งมาจากการเผาไหม้ของมวนบุหรี่ที่เป็นสาเหตุของการก่อโรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ยังได้รับสารนิโคตินตามที่ร่างกายต้องการ ก็จะทำให้ผู้สูบบุหรี่สามารถลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ลงได้ นอกเหนือจากแนวทางเดิมที่แนะนำให้เลิกสูบแต่เพียงอย่างเดียว

ในการประชุม AHRF ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุขจากหลาย ๆ ประเทศจึงได้เรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเดินตามรอยประเทศญี่ปุ่นในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ จนสามารถนำไปสู่การลดลงของยอดขายบุหรี่ได้ถึง 42% ในเวลาเพียง 5 ปี

ศาสตราจารย์เดวิด สวีนอร์ ประธานศูนย์กฎหมายด้านสุขภาพ นโยบายและจริยธรรม และศาสตราจารย์พิเศษด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยออตตาวา กล่าวว่า “ยอดขายบุหรี่ในญี่ปุ่นลดลง 42% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งสูงสุดเป็นประวิติการณ์เปรียบเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว เพราะมีการอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบไม่เผาไหม้เข้ามาจำหน่ายได้ ปัญหาสุขภาพของการสูบบุหรี่มาจากควัน ที่ผู้สูบบุหรี่ต้องสูดเข้าไปเพื่อให้ได้รับนิโคติน ซึ่งควันเหล่านั้นประกอบด้วยสารพิษและเป็นสิ่งไม่จำเป็นเลย ผู้บริโภคควรได้รับนิโคตินโดยไม่ต้องมีควัน และปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบที่สามารถให้นิโคตินกับผู้บริโภคได้ และเราก็ได้เห็นแล้วว่าการที่ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณสุขในภาพรวมอย่างไร”
“หลายประเทศยังคงเดินตามคำแนะนำของ WHO ที่ยังคงมีจุดยืนที่ต่อต้านนวัตกรรมและปกป้องธุรกิจยาสูบ ทำให้เสียโอกาสในการลดอันตรายให้กับผู้สูบบุหรี่”

ในทวีปยุโรป ประเทศที่มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงมากที่สุด คือ ประเทศที่ยอมรับผลิตภัณฑ์นิโคตินที่ไม่มีการเผาไหม้ เช่น ประเทศสวีเดน ที่อัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ต่ำที่สุด ขณะที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งอนุญาตให้ สนุส (snus) ผลิตภัณฑ์นิโคตินแบบอม ขายในระเทศได้ ก็ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างมากภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี หรือประเทศไอซ์แลนด์ที่บุหรี่ไฟฟ้าและสนุสถูกกฎหมาย อัตราการสูบบุหรี่ก็ลดลง 40% ในเวลา 3 ปี

นายปีเตอร์ ดาทอร์ ประธานเครือข่ายผู้บริโภคฟิลิปปินส์ในฐานะตัวแทนผู้จัดงาน กล่าวว่า “ความสำเร็จของญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปน่าสนใจเป็นอย่างนิ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียยังมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อให้ไปถึงความสำเร็จเดียวกัน”

ด้าน นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ENDs Cigarette Smoke Thailand จากประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ดังกล่าวด้วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลไทยออกคำสั่งแบนบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ความก้าวหน้าเรื่องการควบคุมยาสูบและการลดอันตรายให้กับผู้สูบบุหรี่ของบ้านเรายังห่างไกลกับญี่ปุ่น สวีเดน หรือนอร์เวย์มาก ในขณะที่ประเทศเหล่านั้นสามารถลดอัตราผู้สูบบุหรี่หรือยอดขายของบุหรี่ลงได้อย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขการสูบบุหรี่ของบ้านเรากลับไม่เปลี่ยนแปลงมากเท่าใดนัก”

ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่ยังคงแบนบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ ไทย อินเดีย เป็นต้น ขณะที่นิวซีแลนด์ อีกหนึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านนโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลังจากที่ได้ประกาศเป้าหมาย “นิวซีแลนด์ปลอดควัน 2568” โดยหนึ่งในแผนงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายประเทศปลอดควันคือการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนบุหรี่มวนสำหรับผู้ที่ยังไม่ต้องการเลิกบุหรี่ โดยนิวซีแลนด์เพิ่งผ่านร่าง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมและการควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควัน เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ล่าสุด (ปี 2020) พบว่ายอดขายบุหรี่ลดลงถึง 410 ล้านมวนในเวลา 2 ปี ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องการลดอันตราย โดยจะออกกฎหมายอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ชนิดให้ความร้อนได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎข้อห้ามเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์ หรือการทำการตลาดกับกลุ่มเยาวชนอย่างเคร่งครัด

“7 ปีแล้วที่ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยถูกปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ซึ่งเท่ากับผลักพวกเราเกือบ 2 ล้านคนไปตลาดใต้ดินซึ่งกฎหมายเข้าไปควบคุมอะไรไม่ได้เลย ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่สื่อสารออกมาจากสื่อหลักก็แทบจะเป็นข้อมูลที่มาจากฝั่งเดียว พูดแต่เรื่องความอันตราย ทั้งๆ ที่มีการวิจัยอีกมากมายที่พูดถึงศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในฐานะผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง ผู้ใช้จำนวนมากโดนรีดไถจับกุมจากเจ้าหน้าที่เพราะพกพาหรือใช้บุหรี่ไฟฟ้า ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ พยายามเดินหน้าเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการใช้สินค้าที่ปลอดภัยกว่าและในการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า”

“ในเรื่องนี้ เราต้องขอขอบคุณสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ไม่ทอดทิ้งและรับฟังพวกเรา ทั้งยังมีคำแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังเสียงประชาชน ถือเป็นความก้าวหน้าที่ทำให้พวกเรายังคงมีความหวังว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้กำหนดนโยบายจะรับฟังเสียงของประชาชน มีการนำผลการวิจัยของบุหรี่ไฟฟ้าไปถกเถียงกันอย่างเป็นกลาง หาข้อดี-ข้อเสีย และท้ายที่สุดจะได้มีกฎหมายที่ออกมาควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย และมีการควบคุมอย่างเหมาะสมเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนโดยไม่ปิดกั้นทางเลือกของผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ๋”

 

“และหากตัวแทนจากประเทศไทยที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง เช่นกรมสรรพสามิต หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะไปเข้าร่วมการประชุม COP 9 ก็อยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้บริโภคด้วย จะได้ร่วมกันกำหนดกำหนดท่าทีของประเทศด้วยความเหมาะสมและโปร่งใสก่อนไปคุยในเวทีโลก ไม่ใช่คุยกันเองเป็น echo chamber เพราะทุกวันนี้มีแค่ 32 ประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่อีก 79 ประเทศมีการกำหนดมาตรการมาควบคุมอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ประเทศไทยจึงต้องทบทวนนโยบายการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเสียใหม่” นาอาสา กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา:
Expert cites Japan in smoking issues | The Manila Times
Asia Harm Reduction Forum 2021 – Daily Guardian

You may have missed