วช. จัดเสวนา “โควิด-19 กับความกลัว : กลัวโควิด กลัววัคซีน กลัวอด”
วช. จั
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “โควิด-19 กับความกลัว : กลัวโควิด กลัววัคซีน กลัวอด” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564
การเสวนาโควิด-19 กับความกลัว : กลัวโควิด กลัววัคซีน กลัวอด เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมและคลายข้อสงสัย ลดความกังวลใจ เพิ่มความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีนที่ใช้ภายในประเทศ และยังรวมถึงการรับทราบผลกระทบและผลข้างเคียง รวมถึงแนวทางแก้ไขทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ จากองค์ความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างแท้จริง ผู้ร่วมเสวนาเป็นวิทยากรที่มีประสบการณ์ และมีความรู้ในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมจากโรคโควิด-19 ประกอบด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.), นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล กรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วช. เป็นผู้ดำเนินงานในการเสวนาฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาและรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ถือเป็นวาระแห่งชาติ วช.ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ในฐานะหน่วยงานบริหารงานวิจัยของประเทศ (PMU) และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ในประเทศเกิดการระบาดโรคโควิด-19 อีกครั้ง จึงต้องมีการควบคุมและป้องกัน ควบคู่กับการเร่งฟื้นฟูสังคม เศรษฐกิจให้กลับมาสู่ระดับเดิมโดยเร็ว รวมถึงการเตรียมนวัตกรรมทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อการรองรับการระบาดในระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้หลายประเทศทั่วโลกเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยทุกประเทศได้มีนโยบายในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนภายในประเทศให้เร็วที่สุด ด้วยความปลอดภัยตามมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 การฉีดวัคซีนของทั่วโลกมุ่งหวังว่าการติดเชื้อจะกลับมารุนแรง และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโลกได้ เพื่อให้บรรลุผล วช. จึงเน้นงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจในระหว่างการเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากประเด็นการศึกษาอุบัติการณ์ และการดำเนินโรค หลังการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และผู้มีโรคประจำตัว ยังมีการติดตามความปลอดภัย ผลของภูมิต้านทานที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีน และยังมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ การวิจัยดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพิ่มภูมิคุ้มกันทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพให้กับประชาชนในประเทศ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญในการลดการระบาด คือการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน เพื่อช่วยป้องกันการป่วยที่มีอาการรุนแรง ลดการสูญเสีย ซึ่งในอนาคตจะมีวัคซีนหลาย ๆ บริษัทเข้ามา เราจะต้องพร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยในอนาคตอาจมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อหยุดยั้งการระบาดได้อย่างมีสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การขจัดความกลัวเกี่ยวกับเรื่องวัคซีน จึงควรเป็นการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมแพทย์ กล่าวถึงความก้าวหน้าแนวทางการแก้ไขการเกิด VITT หรือภาวะเกร็ดเลือดต่ำ โดยการใช้ IVIG หลังการฉีดวัคซีน ซึ่งได้รับการอนุมัติแนวทางจาก สปสช.แล้ว อีกทั้งมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบประสาท ร่วมกับ นายแพทย์เมธา อภิวัฒนากุล จากสถาบันประสาทวิทยา และมีการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน ใน 6 ด้าน อาทิ การสร้าง Vaccine Passport การสื่อสารข้อมูลที่โปร่งใส เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการปรับตัวพร้อมเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยให้ความสำคัญ ด้านข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง นโยบายที่ชัดเจน การบริหารงานด้วยหลักวิชาการ และความร่วมมือจากประชาชน “และขณะนี้กรมการแพทย์ได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มประชาชนผู้ให้บริการด้านคมนาคม อาทิ รถตู้ รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมถึงพ่อค้าแม่ค้า โดยจะเริ่มทดสอบระบบประมาณ 5,000 คน โดยสามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้วันละ 10,000 คนหรือ 300,000 คนต่อเดือน เชื่อว่าจะสามารถเป็นอีกหนึ่ง Outlet ในการช่วยเหลือพื้นที่กรุงเทพมหานคร”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) กล่าวถึงนโยบายการให้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านโควิด-19 ว่า การวิจัยได้มีการแบ่งการทำงานเป็นระยะต่าง ๆ โดยยึดหลักการตาม WHO มีความพร้อมด้านองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถส่งเสริมและต่อยอดให้กับภาครัฐและภาคเอกชนได้ อย่างเช่น การผลิตวัคซีนในไทย ที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆนี้ โดยความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่งมหาวิทยาลัย Oxford และ บริษัท Astrazeneca ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการผลิตชีววัตถุ และส่งเสริมในเชิงธุรกิจต่อไปได้
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในวงเสวนาว่า โครงการประเทศไทยในอนาคต ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สะท้อนให้เห็นภาพการกังวลใจในอนาคตว่า ฐานะทางการคลังจะมีปัญหามากขึ้น การเจริญเติบโตของไทยตกลงเรื่อย ๆ ทุก ๆ 5 ปี ถ้าเฉลี่ยดู พบว่าเศรษฐกิจเคยโตถึง 4 % แต่ตอนนี้หล่นลงมาอยู่ที่ 3.8% และนะตอนนี้ เหลือ 3.4% ซึ่งในอนาคตถ้าไม่มีเครื่องจักรทำเงินใหม่ จะยิ่งตกลงเรื่อย ๆ ส่วนด้านการคลัง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลหารายได้เพียง 16.28% GDP แต่ประเทศไทยใช้จ่ายไปถึง 18.07 % GDP นั้นหมายความว่าทุกปี การคลังของประเทศไทยจะติดลบประมาณ 1.79% GDP และนี้ก็เป็นการสะท้อนว่าในอนาคต ประเทศไทยจะมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยในระยะยาว
การเสวนาในครั้งนี้ วช. จะรวบรวมเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยนำมาออกแบบเป็นนโยบาย หรือมาตรการ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น