งานเสวนาออนไลน์ รายงานสถานการณ์เรือนจำโลก Global Prison Trends 2020 ในภาวะวิกฤติโควิด-19

งานเสวนาออนไลน์ รายงานสถานการณ์เรือนจำโลก Global Prison Trends 2020 ในภาวะวิกฤติโควิด-19

 



สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ องค์กร การปฏิรูปการลงโทษสากล (PRI) จัดงานเปิดตัวรายงานสถานการณ์เรือนจำโลกฉบับปี 2563 (Global Prison Trends 2020) ในรูปแบบเสวนาออนไลน์ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิตัวแทนระดับสูงจากจากองค์ระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนนำเสนอสถานการณ์ปัจจุบันของเรือนจำทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา และเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบาย เพื่อการผลักดันให้เกิดการลดจำนวนผู้ต้องขังแออัดด้วยมาตรการอาญาที่ไม่ใช่การคุมขัง พร้อมกับยกระดับการดูแลสุขภาวะในเรือนจำในช่วงที่สังคม และชุมชนต้องเผชิญวิกฤติโรคระบาดใหญ่โควิด-19

ทั้งนี้ ความท้าทายในการบริหารจัดการเรือนจำของปี 2020 คือการให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ต้องขังในภาวะวิกฤติทางสาธารณสุุุข และรับมือกับวิกฤติโรคระบาดใหญ่ไปพร้อมกัน

การเสวนาเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับโดย อิลเซ่ บรานดส์ เคริส ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ด้านสิทธิมนุษยชน และหัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติประจำนิวยอร์ค (OHCHR) และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) วิทยากรที่เข้าร่วมเสวนาได้แก่ โอลิเวีย โรป ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและงานรณรงค์ระหว่างประเทศ องค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล (PRI), ดร.คาริน่า ฟีร์ไรรา บอร์เคส ผู้จัดการโครงการ ประจำองการอนามัยโลกสำนักงานภาคพื้นยุโรป (WHO/Europe), โฆเอล เอร์นานเดซ การ์เซีย ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (IACHR), เดิร์ก ฟาน ซิล สมิท ศาสตราจารย์ภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม, ซาราห์ เบลาล ผู้อำนวยการ และผู้ก่อตั้งองค์กร Justice Project Pakistan (JPP) และดำเนินรายการเสวนาโดย ฟลอเรียน เออร์ไมเนอร์ ผู้อำนวยการองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล (PRI) และมีผู้เข้าร่วมเสวนาออนไลน์จากทุกภาคส่วนทั่วโลกกว่า 500 คน

จากรายงาน Global Prison Trend 2020 ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ต้องขังทั้งหมด 11 ล้านคน และเรือนจำใน 124 ประเทศประสบปัญหาเรือนจำแออัด หรือคนล้นคุกเกินพิกัดสูงสุด อันเนื่องมาจากทิศทางการเน้นการลงโทษแบบคุมขังแบบเดิม ในขณะที่ผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบางเช่นผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกอยู่ที่ 7 แสนคน และกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความควบคุมของตำรวจมีอยู่กว่า 1 ล้านคนทั่วโลก

อิลเซ่ บรานดส์ เคริส กล่าวว่า สถานการณ์นี้เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติเลยทีเดียว โดยอ้างอิงตัวเลขจากรายงานฯ ว่า “จำนวนผู้ต้องขังปัจจุบันเป็นจำนวนที่สูงสุดในประวัติการณ์ ในจำนวนนี้มีคนจำนวนมากยังอยู่ระหว่างการคุมขังก่อนชั้นพิจารณามาเป็นเวลาหลายปี หรือหลายคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่แออัด โดยที่ผู้ต้องขังในเรือนจำเหล่านี้กำลังประสบปัญหาด้านสุขอนามัย เนื่องจากขาดน้ำสะอาด และระบบถ่ายเทที่ดี” ผู้ช่วยเลขาธิการ UN ยังได้เรียกร้องให้แต่ละประเทศมองหาวิธีการปล่อยตัวผู้ที่มีความเสี่ยงต่อไวรัส และให้ใช้เวลานี้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีหลักฐานทางกฎหมายที่เพียงพอ

โอลิเวีย โรป เปิดเผยตัวเลขสถิติเกี่ยวกับเรือนจำทั่วโลกในมิติต่างๆ พร้อมแสดงความกังวลถึงวิกฤติเรือนจำแออัดซ้อนวิกฤติโควิด-19 ว่า “ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับโทษที่ไม่ต่างไปจากการประหารชีวิต” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายแห่ง PRI กล่าว

จากรายงาน ยังพบว่าความแออัดในเรือนจำนำไปสู่วงจรการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังบางกลุ่ม และยังส่งผลให้เรือนจำไม่ประสบความสำเร็จในการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิด เห็นได้จากอัตราการทำความผิดซ้ำของนักโทษถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ อัตราการตายของผู้ต้องขังในเรือนจำมีมากกว่าภายนอกเรือนจำถึงร้อยละ 50
ดร.คาริน่า ฟีร์ไรรา บอร์เคส แห่ง WHO/Europe กล่าวอ้างอิงรายงานเอกสารที่ระบุถึงการเกิดโรคติดต่อภายในเรือนจำ และย้ำว่าในสภาวะแออัดเช่นนี้ ในเรือนจำจะมีความรุนแรงของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มากขึ้น และเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาความแออัดของเรือนจำ และเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรงในการเผชิญวิกฤติขณะนี้

ซาราห์ เบลาล ผู้อำนวยการ JPP เผยว่าในแถบเอเชียใต้ ได้ตื่นตัวรับกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาภายในระบบการจัดการด้านสุขอนามัยของเรือนจำจากภาวะเรือนจำแออัด เฉพาะในปากีสถานคนล้นคุกคิดเป็นร้อยละ 117 บวกกับภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ตรวจหาผู้ติดเชื้อหรือกระทั่งรถพยาบาล อย่างในแคว้นปัญจาบ มีเรือนจำกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่มีรถพยาบาล โดยการปล่อยผู้ต้องขังส่วนมากเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรค และการเสียชีวิต “มีหลายพื้นที่ทั่วโลกที่ยอมปล่อยผู้ต้องขังเพื่อลดความเสี่ยงติดโรคโควิด-19 ในเรือนจำ โดยไม่ต้องมีแรงกดดันทางการเมือง เพราะความเข้าใจตรงกันกับหลักการพื้นฐานว่า สุขอนามัยในเรือนจำก็คือสุขอนามัยของประเทศ”

สำหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เผยว่า ทาง TIJ ได้รายงานสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในเรือนจำกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในไทยแล้ว และเล็งเห็นว่าโอกาสนี้น่าจะตอกย้ำแนวคิดการปฏิรูปกระบวนการยุติกรรม และการใช้มาตรการทางเลือกในการบริหารจัดการทั้งระบบ “โรคโควิด-19 ได้ส่งผลต่อพฤติกรรรมของผู้คนรวมไปถึงรูปแบบของอาชญากรรม จึงควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรรมรวมไปถึงปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม เราต้องการเห็นเรือนจำเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะถูกนำมาใช้ และหากใช้ก็ควรจะใช้ในระยะเวลาสั้นๆ ” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กล่าว

เดิร์ก ฟาน ซิล สมิท ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ ยังได้เอ่ยถึงนโยบายการใช้โทษคุมขังที่ยาวนานหรือการบังคับใช้โทษจำคุกตลอดชีวิต ว่าสร้างความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตของบุคคลผู้ถูกคุมขังและไม่ต่างจากการลงโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นเหตุผลที่ PRI ต้องการผลักดันการปฏิรูปกระบวนการลงโทษ และพัฒนาเรือนจำให้เป็นสถานบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังในกรอบมนุษยธรรม

ในวงเสวนายังได้ชี้ถึงปัญหาการรับรู้ของสังคม โฆเอล เอร์นานเดซ การ์เซีย ประธานคณะกรรมการภาคีอเมริกันด้านสิทธิมนุษยชน ชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของสื่อมวลชนต่อการเปลี่ยนแปลงว่า “สื่อมวลชนควรเสนอข่าวที่เป็นข้อมูลถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ และสถานการณ์ของเรือนจำที่เป็นจริง การเสนอข่าวที่เน้นถึงมนุษยธรรม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังในภาวะเกิดโรคระบาด มากกว่าจะเน้นไปในเชิงประเด็นการเมืองอย่างที่เป็นมา”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เห็นพ้องว่า การสื่อสารกับประชาชนมีความสำคัญ โดยกล่าวว่า “ในประเทศไทย ประชาชนกังวลเกี่ยวกับอันตรายของการปล่อยตัวผู้ต้องขัง แต่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่ TIJ ผลักดันให้มีการปล่อยตัว เป็นผู้ต้องขังที่มีโทษน้อย อยู่ในการคุมขังก่อนชั้นพิจารณา ผู้ต้องขังสูงอายุ และผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังโดยไม่เหมาะสม และแม้ว่าพวกเขาจะถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนพ้นโทษ แต่ก็ยังมีการควบคุมทางสังคมอยู่ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับประชาชน ให้เข้าใจสถานการณ์ภายในเรือนจำ และเข้าใจผู้ต้องขังอย่างถูกต้อง”

โดย PRI และ TIJ มุ่งผลักดันการปฏิรูปการบริหารจัดการภายในเรือนจำและนโยบายเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางอาญาที่มิใช่การคุมขัง เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังและยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งเจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำ และตัวผู้ต้องขัง โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังเป็นภัยคุกคามของคนทั่วโลก

You may have missed