หม่อมเต่า’ เปิดประชุม ‘รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้รับอนุญาตจัดหางานฯ ร่วมเตรียมแผนส่งออกแรงงานทันทีหลังโควิด-19 คลี่คลาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดประชุมเตรียมแผนการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พร้อมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากตัวแทนผู้รับจัดหางานฯ ร่วมเตรียมแผนส่งออกแรงงานไทยทันที หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 คลี่คลายลง
วันที่ 20 มิถุนายน 2563 เวลา 10.00 น. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อเตรียมแผนการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พร้อมรับฟังปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะของผู้รับอนุญาตจัดหางานฯ กว่า 80 บริษัท เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศได้ทันที เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม
ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลายลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยมี พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน และ คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องอบรมคนหางานก่อนไปทำงานต่างประเทศ ชั้น 11 อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 กระทรวงแรงงาน
หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศและมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานให้มีรายได้สูงขึ้น โดยการส่งเสริมการมีงานทำในต่างประเทศและพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน การไปทำงานางประเทศนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานในประเทศแล้ว ยังสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้จำนวนมากไม่น้อยกว่า 140,000 ล้านบาทต่อปี นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้การไปทำงานต่างประเทศยังเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากแรงงานไทยจะได้รับประสบการณ์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้ ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ได้แพร่ระบาดในประเทศไทยและในต่างประเทศที่เป็นตลาดแรงงานที่สำคัญของประเทศไทย เช่น ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และในยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดส่งแรงงานไทยในภาพรวม ทำให้เป้าหมายการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยยังคงเป็นที่ต้องการของนายจ้างในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งแรงงานฝีมือ และกึ่งฝีมือ รวมทั้งงานในภาคบริการและโรงแรมในต่างประเทศยังคงต้องการแรงงานฝีมือจากประเทศไทยเข้าไปทำงานด้วย เนื่องจากแรงงานไทยมีข้อได้เปรียบในด้านจิตบริการและอุปนิสัย ขยัน ซื่อสัตย์ และมีวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด