เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าโวย โยงมั่วบุหรี่ไฟฟ้าทำเสี่ยงโควิด เตือนรับข่าวสารให้ครบถ้วนชี้ อย.สหรัฐเปลี่ยนจุดยืนเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับโควิด-19 แล้ว

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าโวย โยงมั่วบุหรี่ไฟฟ้าทำเสี่ยงโควิด เตือนรับข่าวสารให้ครบถ้วนชี้ อย.สหรัฐเปลี่ยนจุดยืนเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับโควิด-19 แล้ว

 

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลุ่มลาขาดควันยาสูบและแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” เผยว่า แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศหลายรายได้ออกมาระบุแล้วว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่จะชี้ได้ว่าไอบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ติดเชื้อโควิดมากขึ้น ล่าสุดองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอสเอฟดีเอ) ได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนเรื่องโควิด-19 กับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ดังนั้นเหตุผลที่กลุ่มต่อต้านบุหรี่อ้างว่าควันบุหรี่หรือไอบุหรี่ไฟฟ้าแพร่เชื้อโควิดถือเป็นเรื่องไร้สาระ และไร้ความรับผิดชอบมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สังคมกำลังหวาดกลัวกับการระบาดของโรคนี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่ายูเอสเอฟดีเอได้ปรับแก้จุดยืนเรื่องโควิด-19 กับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เมื่อเดือนที่ผ่านมา ยูเอสเอฟดีเอระบุว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและผู้สูบบุหรี่ ที่มีอาการป่วยอื่นๆ อาจมีความเสี่ยงโรคโควิด-19 มากขึ้น แต่ล่าสุด ยูเอสเอฟดีเอระบุว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดสัมผัสกับสารเคมีต่าง ๆ แต่ว่าการสัมผัสเหล่านี้ เพิ่มความเสี่ยงของโรคโควิด-19 หรือไม่นั้นยังไม่ทราบ

ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายรายได้ออกมาให้ความเห็นว่าไม่มีหลักฐานชี้ชัดที่จะสรุปว่าควันบุหรี่และไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าช่วยกระจายเชื้อไวรัสได้ อาทิ นางโรซานนา โอ คอนนอร์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) ระบุถึงรายงานของ PHE ในปี 2018 ที่ยืนยันว่าไอของบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่รอบข้าง และกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจากการสัมผัสกับไอละอองของบุหรี่ไฟฟ้า ด้านนักวิชาการด้านการแพทย์ ดร.นีล เบโนวิตส์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก แย้งว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าควันบุหรี่และไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าช่วยกระจายเชื้อไวรัสได้ ยกเว้นกรณีผู้พ่นควันมีอาการไอและจามร่วมด้วย ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO ) ก็สรุปเพียงว่าผู้สูบบุหรี่หรือผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสกับนิ้วที่คีบบุหรี่หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกัน

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการประโคมข่าวจากกลุ่มต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและการสูบบุหรี่นั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสมากขึ้น รวมถึงเป็นตัวการในการแพร่เชื้อไวรัส ทั้ง ๆ ที่ยังไม่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอ สอดคล้องกับที่ ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ชุดความรู้ถามตอบเกี่ยวกับโควิด-19 ว่า “ยังไม่พบหลักฐานว่าติดต่อทางควันบุหรี่ได้ จึงสมควรที่ผู้ให้ข่าวจะออกมาแก้ไขให้ถูกต้อง”

ขณะที่ประเทศไทยแบนบุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2557 แต่ในความเป็นจริงยังคงพบเห็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก นายมาริษ กล่าวสรุปว่า การห้ามให้บุหรี่ไฟฟ้าในไทยนั้นส่งผลร้ายมากกว่าผลดีและแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายการห้ามนำเข้า เพราะยังคงมีผู้ลักลอบใช้อยู่เป็นจำนวนมากและไม่สามารถการันตีว่าจะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนได้ นอกจากนี้ การแบนยังบังคับให้คนที่เลิกสูบบุหรี่ไปแล้วและหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดอันตรายจากควัน ต้องกลับไปสูบบุหรี่ตามเดิม หรือไม่ก็ต้องไปซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากตลาดมืด ตลาดใต้ตินผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งเติบโตกว่า 100% ในช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีการปราบปรามแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในวิกฤตของสุขภาพเช่นนี้ ประเทศไทยเองควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้ดีเสียก่อน เพราะมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงและประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากประเทศต่างๆ ที่มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ แคนาดา หรือสหภาพยุโรปได้

 

You may have missed