วางกรอบควอลิฟายโอลิมปิกให้ทุกกีฬาเสร็จก่อน 29 มิ.ย.ปีหน้า
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ เผย คณะทำงานพิเศษ Here We Go อนุมัติเปลี่ยนแปลงหลักการคัดเลือกนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิก โตเกียว 2020 ใหม่ พร้อมกำหนดเส้นตายรอบควอลิฟาย ทุกชนิดกีฬา ต้องเสร็จส้ินก่อน วันที่ 29 มิ.ย.2021 โดยแต่ละสหพันธ์สามารถกำหนดเส้นตายของตนเองได้ แต่ต้องไม่เลยเส้นตายนี้ ส่วนการกำหนดตารางแข่งขันรอบคัดเลือกที่เหลืออยู่ ให้ยึดหลักการเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพของนักกีฬาเป็นหลัก การแข่งขันแต่ละรายการต้องมีการประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นหลักไว้ก่อน
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) กล่าวว่า คณะทำงานพิเศษ Here We Go ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกคณะกรรมาธิการประสานงานไอโอซี และคณะกรรมการจัดการแข่งขัน โอลิมปิก โตเกียว 2020 อนุมัติเปลี่ยนแปลงหลักการคัดเลือกนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิก โตเกียว 2020 หลายข้อ แทนของเดิมที่อนุมัติโดยคณะกรรมการบริหารไอโอซี เมื่อเดือน ก.ค.2017 เพื่อให้สอดรับกับผลกระทบจากการเลื่อนการแข่งขัน โตเกียว 2020 ออกไป 1 ปี เนื่องจากปัญหาโรคระบาดไวรัสโควิด-19
หลักการคัดเลือกนี้จะใช้เป็นข้ออ้างอิงสำหรับระบบคัดเลือกทั้งหมด ซึ่งแต่ละสหพันธ์จะเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบของตนเอง โดยหลักการคัดเลือก ประกอบด้วย กฎข้อบังคับ ขั้นตอนดำเนินการ และหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งประเด็นหลัก ๆ ของการแก้ไขหลักการคัดเลือกนักกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 มีดังนี้
เร่ิมจาก ขยายระยะเวลาคัดเลือก และกำหนดเส้นตายใหม่ เป็นวันที่ 29 มิ.ย.2021 โดยแต่ละสหพันธ์สามารถกำหนดเส้นตายของตนเองได้ แต่ต้องไม่เลยเส้นตายนี้ ขณะที่เส้นตายสำหรับลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขัน หรือ final sport entries คือ วันที่ 5 ก.ค.2021 โดยการเปลี่ยนแปลงหลักการคัดเลือกนี้จะเร่งสรุปให้ได้เร็วที่สุด
ส่วน เรื่องการให้โควตา สำหรับนักกีฬา และคณะกรรมการโอลิมปิกแต่ละแห่ง ที่ได้รับโควตาการคัดเลือกไปแล้ว จะยังคงได้สิทธิ์นั้นตามเดิม โดยล่าสุด มีนักกีฬาที่ได้โควตาไปแล้วร้อยละ 57 จากจำนวนโควตาทั้งหมด ส่วนที่เหลือยังมีอีกประมาณ 5,000 โควตา
ในกรณีนี้ โควตาที่ได้ไป มีทั้งที่เป็นแบบให้กับคณะกรรมการโอลิมปิกแต่ละชาติ และให้กับนักกีฬาโดยตรง อย่างไรก็ตาม ในทุกกรณี กฎบัตรโอลิมปิกระบุว่า คณะกรรมการโอลิมปิก ยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการเลือกนักกีฬาที่เหมาะสมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน โตเกียว 2020
การจัดลำดับความสำคัญ ยังคงยึดตามวิธีการให้โควตาแบบดั้งเดิมของแต่ละชนิดกีฬา ซึ่งหลักการนี้สนับสนุนให้สหพันธ์กีฬา แทนที่จำนวนโอกาสในการได้โควตาที่หายไป ด้วยจำนวนรายการแข่งขันเท่าเดิม
กรณีที่โควตาเดิมขึ้นอยู่กับคะแนนการจัดอันดับ แต่ละสหพันธ์ยังคงมีอิสระในการกำหนดเส้นตายและเส้นทางการจัดอันดับใหม่ แต่ควรต้องรักษาสมดุลให้ได้ ระหว่างการปกป้องนักกีฬาที่เกือบได้โควตาจากตารางคัดเลือกเดิมในปี 2020 กับการคัดนักกีฬาที่มีผลงานดีที่สุดเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในปี 2021
สหพันธ์กีฬาต่าง ๆ ควรไปหารือกับสมาพันธ์กีฬาที่เป็นสมาชิก และคณะกรรมาธิการนักกีฬาของตนเอง เพื่อหาฉันทามติที่ยุติธรรมและโปร่งใสร่วมกัน
ขณะที่ หลักเกณฑ์เรื่องความชอบธรรม สหพันธ์กีฬาสามารถขยายหลักเกณฑ์เรื่องอายุนักกีฬาได้ หากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในเรื่องนี้ และยึดถือตามหลักการที่ระบุว่า นักกีฬาที่ได้รับโควตาเข้าแข่งขันแล้ว ยังคงมีสิทธิ์ลงแข่งขันได้ตามเดิม โดยมีเพียงข้อแม้เดียว คือ สหพันธ์กีฬามองว่า การผ่อนคลายเรื่องการจำกัดอายุ จะเป็นอันตรายต่อตัวนักกีฬา
ส่วนหลักการลดข้อจำกัดอายุของนักกีฬา แต่ละสหพันธ์มีอำนาจเต็มในการพิจารณาและประเมินเพื่อให้สิทธิ์นักกีฬาที่ไม่ผ่านเกณฑ์อายุในการคัดเลือกปี 2020 สามารถร่วมคัดเลือกหากผ่านเกณฑ์ร่วมลงแข่งขันในปี 2021
และการกำหนดตารางแข่งขันรอบคัดเลือกที่เหลืออยู่ให้ยึดหลักการเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพของนักกีฬาเป็นหลัก การจัดแข่งขันแต่ละรายการ ต้องมีการประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนอย่างเคร่งครัด