สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 1/2563
วันที่ 31 มีนาคม 2563 นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดข้อมูลสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 1/2563 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคาดการณ์ถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 นี้ เป็นผลการสำรวจในช่วงเดือน มกราคม – มีนาคม
สืบเนื่องจากการค้าโลกซึ่งชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวมาตั้งแต่กลางปี 2562 และทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวต่อเนื่องมาถึงไตรมาสนี้และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลก โดยเริ่มมีการจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน (PM2.5) ที่เป็นปัญหาต่อการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 1/2563 คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 57 ต่ำกว่าไตรมาสที่ 4/2563 (88) และลดลงต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี
ไตรมาส 1/2563 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.70 ล้านคน ลดลงร้อยละ 37.96 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาดเริ่มรุนแรงในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และคาดว่ามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 343,130 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38.4 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 จะส่งผลให้หากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายได้เร็ว (ภายใน 6 เดือน) เมื่อสิ้นปี 2563 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 26.59 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 33.19 และคาดว่ามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 1.23 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 36.38
สทท.จึงขอเสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดด้วยวิธีจำกัดการเดินทาง และใช้อำนาจตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน บังคับให้ประชาชนผู้เดินทางไปในพื้นที่สาธารณะใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยแบบต่าง ๆ เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของโรค พร้อมทั้งกระชับงานด้านสื่อสารมวลชนให้เป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือทุกภาคส่วน ในส่วนของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลควรเตรียมมาตรการการด้านเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้า และเร่งเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็ว หลังสถานการณ์ระบาดผ่านพ้นไป