สรุป เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ ที่ ครม. อนุมัติ วันนี้

๑. เงินกู้ก้อนใหญ่ ๑ ล้านล้านบาท จะใช้วิธีกู้เงินภายในประเทศเป็นสกุลเงินบาทไทย กู้เป็นระยะๆ เป็นงวดๆ ยาวนานประมาณ ๑ ปี ๖ เดือน ไปสิ้นสุด ก็ประมาณเดือนกันยายน ๒๕๖๔

เงินส่วนนี้จะนำมาใช้แบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ ก็คือ เงิน ๖ แสนล้าน จะใช้ จ่ายเยียวยาประชาชน ๖ เดือน ช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข

เงินเยียวยาประชาชนก็น่าจะเป็น เงิน ๕พันบาทต่อเดือน ช่วยเหลือเกษตรกรก็คงมีตั้งแต่ปล่อยกู้และประกันราคาพืชผลการเกษตร ส่วนทางด้านสาธารณสุขน่าจะเป็นเรื่องการจัดซื้อเวชภัณฑ์ บรรจุข้าราชการ ปรับคุณภาพโรงพยาบาล ต่างๆ

อีกส่วนจำนวน ๔ แสนล้าน จะเป็นเงินเข้าไปสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นการต่อยอดโครงการเก่าๆต่างๆมากกว่า หรือ อาจจะเพิ่มนโยบายที่เป็นมิติใหม่ๆ ในเรื่องเศรษฐกิจชุมชนเพื่อสร้างรายได้เข้ากระเป๋าชาวบ้านโดยตรง ซึ่งก็คงต้องไปวางรูปแบบแผนการใช้เงินอีกที

๒. เรื่องให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ แบ่งเป็นจำนวน ๕ แสนล้าน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะ กลุ่มธุรกิจรายย่อย SME ที่ประสบปัญหาอย่างมากในช่วงนี้ และ อีก ๔ แสนล้าน ใช้ดูแลเสถียรภาพการเงินของกลุ่มภาคการเงิน สถาบันการเงิน ธนาคารต่างๆ ที่ออกมาตรการพักหนี้ อะไรต่างๆในช่วงนี้

๓. จะเป็นเงินโอนงบประมาณประจำปี ๒๕๖๓ ของแต่ละกระทรวง จำนวน ๘ หมื่น – ๑ แสนล้านบาท ไปเข้างบกลาง เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขสถานการณ์โควิดในกรณีฉุกเฉิน หรือ เยียวยาประชาชน กลุ่มเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้ประเมินภาพรวมจำนวนประชาชนที่เดือดร้อนที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะยังไม่หมดศึกโควิด

รวมๆแล้วเงินทั้งหมด ก็น่าจะมีเพิ่มมาให้รัฐบาลได้หมุนเวียนใช้แก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด ราวๆ ๒ .๕ แสนล้านบาทโดยประมาณ ตลอดระยะเวลา ๑ ปีครึ่ง

เงินคงคลังของรัฐบาล จากรายงานของกระทรวงการคลังในเดือนมกราคม ๒๕๖๓ ยังมีตัวเลขที่ดี จัดเก็บรายได้มา ๖๔๖,๒๑๙ ล้านบาท มีเงินคงคลังเหลือ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ อยู่ที่ ๓๑๖,๓๗๐ ล้านบาท เงินสดในมือรัฐบาลจึงถือได้ว่ามีจำนวนมากเพียงพอ

ส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศไทยนั้น ยิ่งไม่ต้องไปกังวลเพราะตอนนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในลำดับต้นๆของโลก คือ อันดับที่ ๑๒ ของโลก หรือ อยู่ที่ ๒๒๐,๕๓๑ ล้านดอลล่าห์สหรัฐ (ตัวเลข ณ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๖๒)

สภาพความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน ทั้งเงินสดในประเทศ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆของไทยนั้น ต้องยอมรับตรงๆว่า ยังแกร่งทั่วแผ่น อย่าได้กังวลใจว่าจะฟื้นตัวยาก หรือ พ่ายแพ้ภัยโควิด

ขอเพียงแค่ คนไทยสามัคคี อดทน และ ร่วมกันสู้ๆต่อไป

เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างแน่นอนครับ !!

……………………………………

วินเซนต์

๗ เมษายน ๒๕๖๓

………………………………..

You may have missed