จากใจหมอชายแดนใต้..ไวรัส โควิด -19 ทำคนไทยแห่กลับจากมาเลเซีย

 

ผมในฐานะหมอคนหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกเป็นกังวลถึงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศมาเลเซียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีด่านถาวร 9 ด่าน และมีคนไทยไปทำงานและเรียนหนังสืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน

เนื่องจากสถานการณ์ของโรค COVID-19 ในมาเลเซียที่มีการรายงานผู้ป่วยยืนยันตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมถึงวันนี้เฉลี่ยวันละ 14 คน รวมยอดผู้ป่วย 149 คน ล่าสุดมีการรายงานผู้ป่วยเพิ่มจากเมื่อวานถึง 20 คน และจากข้อมูลองค์การอนามัยโลกในช่วงดังกล่าวพบว่าประเทศมาเลเซียมีอัตรา Daily Growth Rate of cases มากที่สุด 1 ใน 10 ของโลก ( Daily Growth Rate of Cases หมายถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยต่อวัน )

อีกทั้งข้อมูลจาก Our World in Data (Oxford) ได้วิเคราะห์ออกมาว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศมาเลเซีย มีจำนวนวันต่อการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเป็น 2 เท่า (Double Cases) เพียงแค่ 5 วัน จาก 55 คน ในวันที่ 5 มีนาคม เพิ่มขึ้นเป็น 129 คน ในวันที่ 11 มีนาคม (สำหรับประเทศไทย 33 วัน)

ที่น่าเป็นห่วงคือหากอัตราการพบผู้ป่วยในประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้นเช่นนี้ทุกวัน ภาวะวิตกกังวล ผลของเศรษฐกิจและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง อาจทำให้แรงงานไทยและนักศึกษาที่ประเทศมาเลเซียทะลักกลับมาอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว งานคัดกรองผู้ป่วยตามชายแดน โดยเฉพาะ ด่านสุไหงโกลก ตากใบ บูเก๊ะตา เบตง ปาดังเบซาร์ สะเดา และด่านสตูล เป็นด่านแรกที่ต้องเจอศึกหนัก หากไม่เตรียมพร้อมกำลังคน อุปกรณ์ สถานที่และการคัดกรองที่เข้มงวดกว่าเดิม

และหากว่ากระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศมาเลเซียเป็นเขตติดโรคอันตรายหรือพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง เจ้าภาพใหญ่ที่ต้องรับ คือโรงพยาบาล การเตรียมความพร้อมแบบเต็มสตรีมจึงไม่ใช่เรื่องทำเกินกว่าเหตุ หากนั่งรอทำตามนโยบายกระทรวง อาจจะไม่ทันการณ์กับบริบทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผู้บริหารรพ. เพราะท่านรู้ดีว่าศักยภาพของตนเองและชุมชนทำได้ขนาดไหน หากเกิดมีผู้ป่วยยืนยันในชุมชน ต้องใช้สถานที่และบุคลากรมากขนาดไหนในการติดตามผู้สัมผัส ตัวอย่างล่าสุดที่ผู้ป่วยยืนยันในประเทศมาเลเซียไปร่วมงานศาสนา ซึ่งคาดว่าต้องติดตามผู้สัมผัสเป็นจำนวนมาก รวมถึงการใช้ศิลปะในการสื่อสารความเสี่ยงผ่านผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ที่บางมาตรการอาจอ่อนไหวต่อศาสนา

ขอเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกท่านโดยเฉพาะที่กำลังทำงานคัดกรองโรคในแต่ละด่าน รวมถึงพี่สาวทั้ง 2 ของผมด้วย ทราบว่าตอนนี้กำลังทำงานหนักมากเลือดตาแทบกระเด็น ถึงกระนั้นก็ตามเราทราบดีว่าผู้ป่วยบางคนไม่มีอาการแต่ตรวจพบการติดเชื้อ สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น และไม่สามารถตรวจจับที่ด่านคัดกรองโรคได้ ดังนั้นความรับผิดชอบจึงตกอยู่ที่ตัวของท่าน ไม่ควรเดินทางไปประเทศมาเลเซีย หรือประเทศใดในโลกในช่วงนี้ ส่วนผู้เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย ก็ไม่ควรออกไปทำกิจกรรมกับคนหมู่มาก อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากมีอาการไข้ น้ำมูก ไอ ก็ใช้หน้ากากอนามัย ถึงแม้มาตรการกักตัวผู้ที่มาจากประเทศมาเลเซียยังไม่ได้ออกมาจากกระทรวงสาธารณสุข แต่อัตราการระบาดที่รวดเร็วมากของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ผมจึงอดห่วงที่จะแสดงความเห็นและให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะมันไม่ได้ไกลตัวเราอีกต่อไป………..
Cr.คุณหมอ

You may have missed