TIJ จัดงาน Public Forum ครั้งที่ 8 ระดมแนวคิดสร้างความยุติธรรมในสังคม
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ระดมความคิดสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดงาน Public Forum ครั้งที่ 8 ภายใต้ธีม “สานพลังมนุษยธรรม สร้างสรรค์ความยุติธรรม” เพื่อนำเสนอประสบการณ์ความยุติธรรมผ่านมุมมองของประชาชน ทำให้ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคนในสังคมที่จะสามารถสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ที่ผสมผสานหลักการด้านประสิทธิภาพ มุมมองการบริหารเชิงธุรกิจเพื่อความยั่งยืน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลมาประยุกต์ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับและนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบในระยะยาว เพื่อให้เป็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมไทย
จากสถิติพบว่า ผู้ชายไทยติดอันดับ 7 ของโลกที่ทำร้ายคนในครอบครัว เด็กไทยถูกทำร้ายหรือลวนลามทาง เพศ หรือถูกทอดทิ้งถึงวันละ 52 คน 91% ของผู้หญิงที่เป็นเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากการ คุกคามจากคนในครอบครัว ขณะเดียวกันประเทศไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชียและอันดับ 1 ของอาเซียน โดยปัจจุบัน มีจำนวนผู้ต้องขังถึง 3.9 แสนคน ในขณะที่กรมราชทัณฑ์ สามารถรองรับได้เพียง 2 แสนคน ซ้ำร้าย อัตราการกระทำผิดซ้ำสูงขึ้นถึง 30% คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีจำนวน 1 แสนเรื่อง และไม่ได้มีแนวโน้มลดลงเลย
ขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกทำให้เป็นอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ที่มีจำนวนการส่งฟ้องคดีปีละ 50,000 คดี ในขณะที่ไทยมีสูงกว่า 4 เท่าตัวหรือปีละ 2 ล้านคดี ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยกำลังมีปัญหา
การใช้ตัวบทกฎหมายในการแก้ไขปัญหาทางสังคมอาจไม่ตรงจุดอีกต่อไป ทำให้ TIJ จัดโครงการอบรม หลักสูตรด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD) ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยหรือ TIJในฐานะโครงการอบรมที่กระตุ้นให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ / ผู้อบรมร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคม ดำเนินการต่อเนื่องกันมา 3 ปี ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารรุ่นใหม่ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการประสิทธิภาพการตรวจสอบการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมของภาครัฐไม่ดีเท่าที่ควร TIJ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมหลักนิติธรรมและยกระดับภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมไทยในระดับสากล มองว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมอาจแก้ไขได้ด้วยการใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน โดยการนำคุณค่าความเป็นมนุษย์มาเป็นหัวใจหลักในระบบยุติธรรม ซึ่งสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ Restorative Justice ซึ่งให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลเสียที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดของทุกฝ่าย
การสร้างความสำนึกผิดและความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด หนึ่งในตัวอย่างของการใช้ “หลักมนุษยธรรม” เป็นตัวตั้งของระบบยุติธรรม ซึ่งทำให้หลักนิติธรรมแข็งแกร่งขึ้นนั้น โครงการ “กำลังใจ” ในพระดำริสมเด็จเจ้าฟ้าฯ พัชรกิติยาภา โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจกับผู้ที่ก้าวพลาดทำให้ชีวิตต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนให้โอกาสแก่ผู้ขาดโอกาสในการกลับมาดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งจากหลักคิดดังกล่าว พบว่า สถิติการกระทำความผิดซ้ำลดลง สามารถเริ่มชีวิตใหม่ได้จริง
ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนา กล่าวว่า จากประสบการณ์ ที่ดูแลบ้านกาญจนาพบว่า กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักหรือการใช้กฎหมายนำควรได้รับการทบทวน เพราะหากคิดแบบกระแสหลักจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้จริง เพราะในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ เช่น การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ก่อให้เกิดการผลิตซ้ำทางความคิด การตราหน้า ซ้ำเติมทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาสังคมจึงต้องมองแบบองค์รวม ใช้ความเป็นมนุษย์ และศาสตร์อื่นๆ เข้ามาร่วมมองรากของปัญหา และควรยึดแนวคิดสันติวิธีในการจัดการกับความขัดแย้ง
กิตติ สิงหาปัด สื่อมวลชน กล่าวว่า ปัญหาความยุติธรรมจัดว่าเป็นความทุกข์ของประชาชนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง สะท้อนได้จากรายงานข่าว การรับเรื่องราวร้องทุกข์ ไม่ว่าเป็นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม ช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน คนจนกับคนรวย สิ่งเหล่านี้ทำให้ความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนลดลงแม้ปัจจุบันจะมีความพยายามจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมผ่านศูนย์ดำรงธรรม แต่ในภาคปฏิบัติยังคงมีการแทรงแซงกระบวนการยุติธรรม พบความไม่เป็นธรรมในระบบร้องเรียน สะท้อนสภาวะการณ์ที่สังคมขาดหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง
ขณะที่ สิรินยา บิชอพ หรือซินดี้ นางแบบแถวหน้าของเมืองไทยและผู้ก่อตั้งแคมเปญ DontTellMeHowToDress กล่าวว่า ในกรณีของความรุนแรงในครอบครัวที่ประเทศไทยรั้งอันดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกนั้น ปัญหาประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมคือ เด็กและสตรี มักเป็นเหยื่อของความรุนแรงนั้นต่างก็เผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จากค่านิยมชายเป็นใหญ่ของสังคม ผู้กระทำผิดมักรอดพ้นจากการดำเนินคดี ซ้ำร้ายยังเกิดการผลิตซ้ำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นเพศตรงข้าม จากปัญหาด้านยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนรู้สึกกังวล กลัวและท้อ พร้อมกับตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย เกิดอะไรขึ้นกับหน่วยงานในการดูแลประชาชน ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งสังคมที่เกิดขึ้น จึงเรียกได้ว่าเป็น wake-up call ให้สังคมหันมามองปัญหาทั้งระบบ เช่น การสร้างวัฒนธรรมเคารพกติกา การสร้างค่านิยมในยิม ขณะที่กระบวนการยุติธรรมทั้งองคาพยพ ต้องหันมามองกระบวนการทั้งหมดอย่างมีมนุษยธรรม
โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD 3 ที่ประกอบด้วยผู้นำองค์กรจากหลากหลายสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันระดมความเห็น เพื่อแก้ไขและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางใน 3 ประเด็นคือ กลุ่มเปราะบางจากความรุนแรงในครอบครัว เกิดเป็น “โครงการครอบครัว…ที่พักพิงอันปลอดภัย” โดยเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายและ ผู้ปฏิบัติงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องยึดถือหลักนิติธรรมและการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติภารกิจของตน , กลุ่มเปราะบางจากความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดเป็น “โครงการลดความเลื่อมล้ำด้วยการสร้างโอกาส” ผ่านการจ้างงานดิจิทัล (Digital employability) ซึ่งมีแนวคิดในการประยุกต์ใช้ marketplace platform เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย และสุดท้ายคือ กลุ่มเปราะบางจากการทุจริต โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน เกิดเป็น “โครงการก่อร่างศึกษาภิบาล หนุนสร้างการมีส่วนร่วม” ใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างโซเชียลมีเดียในการสร้างการมีส่วนร่วม และวัฒนธรรมด้านธรรมาภิบาล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียนและผู้ปกครองในการรับผิดชอบต่อสังคม.
//////