“อลงกรณ์”เผยบอร์ดเกลือมีมติกำหนดราคาขั้นต่ำเกลือทะเลเป็นครั้งแรก เร่งพัฒนานาเกลือด้วยแนวทางBCGโมเดลเน้น”เพิ่มมูลค่า-คุ้มค่า-ยั่งยืน”

“อลงกรณ์”เผยบอร์ดเกลือมีมติกำหนดราคาขั้นต่ำเกลือทะเลเป็นครั้งแรก เร่งพัฒนานาเกลือด้วยแนวทางBCGโมเดลเน้น”เพิ่มมูลค่า-คุ้มค่า-ยั่งยืน”

วันนี้ (15มี.ค. 2566) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/ 2566 แบบ Hybrid Meeting ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ zoom cloud meeting
นายอลงกรณ์ ได้กล่าวหลังการประชุมว่า เพื่อแก้ไขปัญหาราคาเกลือผันผวนมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวนาเกลือ คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ


1. การกำหนดราคาขั้นต่ำเกลือทะเลใน 3 ชนิดเกลือ ดังนี้ (1) ราคาเกลือขาว 1,800 บาท (2) เกลือกลาง 1,500 (3) เกลือดำ 1,300 บาท และขอให้ออกเป็นประกาศของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย โดยเป็นราคาขั้นต่ำที่กำหนดเป็นเกณฑ์ในการซื้อขายเกลือทะเล
2. คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบในหลักการ มาตรการการจัดการและป้องกันแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 เพื่อรองรับสภาพปัญหาการผลิตเกลือทะเลไทย


3.คณะกรรมการ ฯ ยังได้รับทราบแนวทางการพัฒนาเกลือทะเลไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทาง มาตรการ และกลไกการดําเนินงานรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2564 – 2570 เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นการพัฒนาห่วงโซ่การเพิ่มมูลค่าเกลือทะเลไทย (BCG Value Chain เกลือทะเลไทย) คำนึงถึงการสร้างมูลค่า การหมุนเวียนใช่ทรัพยากรและความสมดุลและยั่งยืน โดยกำหนดกิจกรรมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ตอนน้ำ จนถึงปลายน้ำได้แก่ ต้นน้ำ (เกษตรกร) โดยพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิตเกลือทะเลให้เป็น smart farmer กระบวนการผลิตเกลือทะเลได้รับมาตรฐาน GAP

รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการผลิตดอกเกลือและดีเกลือ ใช้พลาสติกปูพื้นนาเกลือเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำประมงน้ำกร่อย เชื่อมโยง กลางน้ำ (องค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการ) พัฒนาในส่วนของผู้ประกอบการและองค์กรเกษตร ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นองค์กรเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยแนวทางดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเกลือทะเลไทยตามรูปแบบโมเดลเศรษฐกิจ ใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการเพิ่มมูลค่า ภายใต้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (value creation) ของเกลือทะเล โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (2) ด้านความคุ้มค่า ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่เกิดของเหลือใช้จากกิจกรรมการทำนาเกลือ (3) ด้านความสมดุลความยั่งยืน ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทรัพยากรธรรมชาติ ลดมลพิษ เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวของกับเกลือทะเล

สำหรับ คณะกรรมการ ฯ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดร.จุฑามาศ ทะแกล้วพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันเกลือทะเลไทย (Salt Academy) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายวิสูตร แสงงาม ประธานสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร
นายเลอพงษ์ จั่นทอง ที่ปรึกษา
วิเชียร เกิดเจริญ ประธานสหกรณ์การเกษตรนาเกลือทะเลสาคร จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร
เรืองเดช เกิดจงลักษณ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรนาเกลือทะเลสงคราม จำกัด จังหวัดสมุทรสงคราม
นายคทาวุธ บุญมา ประธานสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด จังหวัดเพชรบุรี
ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรนาเกลือบางแก้ว จำกัด  จังหวัดสมุทรสงคราม
นายชาญยุทธ์ ภานุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร นางรัตติยา สวัสดี ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สป.กษ. ผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้แทนสหกรณ์ชาวนาเกลือ และผู้แทนเกษตรกรชาวนาเกลือ โดยมี สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการ.

 

You may have missed