จากความคิดสร้างสรรค์สู่การขับเคลื่อนเมือง

จากความคิดสร้างสรรค์สู่การขับเคลื่อนเมือง

ความคิดสร้างสรรค์เป็นบ่อเกิดของสิ่งใหม่ ๆ และสามารถนำไปใช้ในหลากหลายด้าน ตั้งแต่ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาพื้นฐาน ความคิดสร้างสรรค์ในการที่สร้างทุกอย่างให้ดีขึ้น และความคิดสร้างสรรค์เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาพื้นฐานนั้นต้องผ่านกระบวนการคิดในแง่ของการคิดถึงตัวผู้ใช้งาน (User) แล้วไปผนวกกับหน่วยงานของภาครัฐที่มีอำนาจ และนำความคิดสร้างสรรค์นั้นไปใช้ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาพื้นฐานนั้นตอบโจทย์คนได้มากขึ้น เราถึงเรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ช่วยขับเคลื่อนเมือง
คุณติ๊ก-มนฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้จัดงาน Bangkok Design Week กล่าวถึงความคิดสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเมืองว่า
“ปัจจุบันจะเห็นว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองต่าง ๆ พยายามจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาพื้นที่มากขึ้น เช่น สวนสาธารณะต่าง ๆที่เกิดขึ้น อย่างสวนป่าเบญจกิติ ที่ไม่ได้มีแค่การใส่ต้นไม้เข้าไป แต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบพื้นที่สวนใหม่ที่คำนึงถึงเทรนด์ของโลกอย่างเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะเราไม่สามารถที่จะรักษาป่าได้ ไม่สามารถจะหยุดการ Urbanization ได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการย้ายป่า สร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดขึ้นในเมือง
สวนป่าเบญจกิติ Photo source from readthecloud.co
คอนเซ็ปต์ของสวนที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ก็ถูกใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำให้กลายเป็นสวนสาธารณะ ที่ไม่ใช่แค่ไว้พักผ่อน แต่เป็นสวนที่ช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย เราจึงได้เริ่มเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่หรือการขับเคลื่อนเมืองแล้ว ประชาชนก็จะได้ในสิ่งที่ไม่ใช่แค่มีพื้นที่สีเขียวใช้ แต่ยังได้สถานที่พักผ่อนที่สวยงามและถูกใจของทุกคน
ในแง่ของการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น อาหารหน้าตาธรรมดาถูกคิดให้มันหน้าตาสวยงาม ถูกคิดให้มันมีวัตถุดิบที่ดีขึ้น การตกแต่งร้าน ก็จะเป็นลักษณะของการสร้างมูลค่าเพิ่ม พอมาถูกแอพพลายกับการขับเคลื่อนเมือง แปลว่าเรามีพื้นฐานที่ดีขึ้นในอนาคต มีคนที่อยากจะทำธุรกิจที่ไม่ได้กระจุกอยู่แต่ในเมือง อย่างแต่ก่อนทำเลของการทำร้านอาหารต้องอยู่ริมถนน ต้องโดดเด่น ทุกวันนี้ก็มีกระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปสร้างจุดขายให้กับร้านที่อยู่ในซอกในหลืบ สามารถทำให้จุดนั้นมันมีความเคลื่อนไหว มีชีวิตชีวาขึ้นมา ท้ายสุดมันก็สามารถที่จะสร้างคุณค่าในแง่ของที่ดินตรงนั้นขึ้นมาได้ กลายเป็นไอเดียในการขับเคลื่อนเมือง ทั้งในแง่ของพื้นฐานและในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

ดังนั้นจะเห็นว่ากระบวนการต่าง ๆ ในโลกเป็นเรื่องของการร่วมมือกัน ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่บนพื้นฐานของการที่สามารถบริหารจัดการความรู้ความสามารถของคนหลากหลายสาขาได้ เป็นสิ่งสำคัญในโลกปัจจุบัน ทุกคนมีความรู้ความสามารถแต่การที่จะบริหารจัดการให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ภายใต้งบประมาณหรือภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือประเด็นที่สำคัญในการที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์สามารถขับเคลื่อนไปได้ เพราะมันต้องถูกบริหารจัดการ ถูกเหลาให้คม ให้เห็นประเด็น แล้วให้คนสามารถมาร่วมมือกันได้เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนต่อไป

ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จากการค้นคว้าหาความรู้ อย่างอินเทอร์เน็ต ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ดีในการเปิดโลกทัศน์ได้มากขึ้น แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้แล้วมีประโยชน์อย่างแท้จริงคือการลงมือทำ เป็นสิ่งที่ช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะการได้ทดลองทำจะเป็นสิ่งที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ที่มันฟุ้งกระจายถูกฟอร์มขึ้นมา กลายเป็นสิ่งที่คุณสามารถเอาความคิดสร้างสรรค์ไปสร้างประโยชน์ได้ตามเป้าหมายที่อยากจะทำ ดังนั้นแพลตฟอร์มเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะให้ทุกคนได้มีโอกาสทดลองแสดงผลงาน เพื่อทำให้ความคิดสร้างสรรค์ที่ฟุ้งกระจายกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้

Bangkok Design Week หรือเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงเป็นแพลตฟอร์มที่รวมทุกอย่างของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เอาไว้เกือบทั้งหมด ทั้งรูปแบบสำหรับแลนดิ้งเมือง เพื่อให้ทุกคนมาร่วมมือกัน เป็นแพลตฟอร์มกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญที่สุดเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างบทสนทนากับภาครัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่ให้เห็นว่า เมืองแต่ละเมืองมันมีจุดที่ต้องแก้ไขหรือปรับปรุงทำให้ดีขึ้นหรือต่อยอดอย่างไรได้บ้าง
Night at The Museum @ Museum Siam Photo source from thestandard.co
“ยกตัวอย่างเรื่องของการอนุรักษ์ตึก การอนุรักษ์ไม่ได้แปลว่าเราซ่อมมันเสร็จแล้ว ต้องปิดไว้ไม่ให้คนมาใช้ แต่การอนุรักษ์ที่ดีคือการเปิดให้คนมาใช้ คือการเข้ามาใช้โดยรักษาฟอร์มทุกอย่างไว้ แต่ปรับฟังก์ชันให้มันเข้ากับความร่วมสมัย ตึกมันก็จะกลับมามีชีวิตเหมือนเดิม เหมือนในอดีต แต่คนรุ่นใหม่สามารถที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ได้ ดังนั้นการที่ทำให้ตึกเก่ามันกลายมาเป็นฟังก์ชันใหม่ ๆ คือสิ่งที่ช่วยเปิดมุมมองให้คนเห็นว่าการอนุรักษ์ไม่ใช่การแช่แข็ง แต่คือการที่ทำให้มันลื่นไหลไปกับกาลเวลา และนี่คือตัวอย่างของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเมือง” คุณติ๊กกล่าวปิดท้าย

You may have missed