“ภาษีเค็ม” มาแน่ แต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้

คลัง-สรรพสามิต เอาแน่ “ภาษีโซเดียม” เค็มมากเสียมากเค็มน้อยเสียน้อย แต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้ ขอหารือภาคเอกชนถึงแนวทางที่เหมาะสม ระบุ บะหมี่กินสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น-แช่แข็ง ของขบเคี้ยว ซอสปรุงรส เป็นกลุ่มแรกที่โดน เครือข่ายลดบริโภคเค็มชี้หากล่าช้า ยิ่งจะทำให้ประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่าแสนล้านบาทต่อปี
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 64 ที่อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ทางคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมสรรพสามิต ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการประชุมสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย ซึ่งมีวาระสำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือในประเทศไทย และ ลดการบริโภคเค็มด้วยแนวทางการเก็บภาษีโซเดียมเพื่อสุขภาพ โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
นายอาคม กล่าวว่า โรคเอ็นซีดีเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่สมดุล เพราะกินอาหารรสจัด หวานจัด เค็มจัด มันจัด เมื่อกินในปริมาณเกินกว่าร่างกายต้องการทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตหลอดเลือดในสมอง ส่วนมาตรการสำคัญเพื่อลดภาวะโรคนั้น ตนเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับมาตรการภาษีและการให้ความรู้ในเรื่องการบริโภค ซึ่งในที่นี้หมายถึงอาหารสำเร็จรูปของขบเคี้ยว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง และหลังจากมีมาตรการต่างๆ แล้ว ควรมีระบบติดตามและประเมินผลว่าสามารถลดการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ได้หรือไม่
ขณะที่ นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การขึ้นภาษีโซเดียม ต้องดูความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมภาคเอกชนด้วย ส่วนเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจบวกกับสถานการณ์โควิดที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการตัดสินใจ สรุปคือต้องรอจังหวะที่เหมาะสม ต้องดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ตนคิดว่าถ้าจีดีพีของประเทศอยู่ในระดับ 16 ล้านล้านบาทขึ้นไป ก็ถือว่าน่าเหมาะสมที่จะนำมาตรการภาษีโซเดียมมาใช้
ส่วนแนวทางในการเก็บภาษีสินค้าที่มีรสเค็มนั้น นายณัฐกร กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคโซเดียมโดยเฉลี่ยประมาณ 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจากการพูดคุยกับฝ่ายแพทย์และสาธารณสุข หากได้ใช้มาตรการทางภาษีก็ต้องการลดปริมาณการกินโซเดียมลง 20% หรือให้เหลือ 2,800 มิลลิกรัมต่อวัน นั่นหมายความว่าสินค้าที่ความเค็มมากก็เสียภาษีมาก เค็มน้อยก็เสียภาษีน้อย
สำหรับกลุ่มสินค้าที่น่าจะได้รับการพิจารณาขึ้นภาษีกลุ่มแรกๆ ได้แก่ บะหมี่กินสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น-แช่แข็ง ของขบเคี้ยว และซอสปรุงรส
“จนถึงตอนนี้ ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีภาษีเมื่อไหร่ แต่ถ้าดูจากการขึ้นภาษีความหวานจะพบว่าใช้เวลาเจ็ดปีและภาษีโซเดียวน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี ขณะนี้เราคุยกันมาได้ 3 ปีแล้ว ซึ่งต่อไปจะต้องมีการพูดคุยกับภาคอุตสาหกรรมถึงความเป็นไปได้และอัตราที่เหมาะสม เมื่อได้แล้ว ก็จะประกาศแนวทางการเก็บภาษีล่วงหน้าอย่างน้อยอีกหนึ่งปี” นายณัฐกร กล่าว
ทางด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การเก็บภาษีโซเดียมจากกระทบสินค้าในตลาดประมาณ 15% หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมเกินกว่า 1,800 มิลลิกรัม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีความเค็มสูง เพราะบางห่อมีโซเดียมถึง 3,000 มิลลิกรัม ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะเป็นสินค้าเป้าหมายที่จะถูกจัดเก็บ
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ทางเครือข่ายลดการบริโภคเค็มจะได้มีการประชุมหารือกับกรมสรรพสามิต ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการกำหนดแนวทางการเก็บภาษีโซเดียม แต่อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยพบปะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังวันนี้ (26 พ.ย.) มีแนวโน้มที่ดี แต่ถ้าดำเนินการช้า ประเทศไทยก็จะสูญเสียไปมากเท่านั้น
“ทุกวันนี้ เรามีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน โรคไต 8 ล้านคน โรคหัวใจ 5 แสนคน โรคความดันหลอดเลือดหัวใจ 5 แสนคน ทำให้เราต้องสูญเสียงบประมาณถึงปีละ 100,000 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 10-15% ทุกปีด้วย ที่สำคัญจำนวนเงินมหาศาลนี้ ล้วนเป็นเงินจากภาษีอากรของประเทศ เพราะทุกโรคที่กล่าวมานั้น รักษาฟรีได้ด้วยบัตรทองทั้งสิ้น” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
ส่วน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สสส. เปิดเผยว่า การลดบริโภคเค็มนั้น คงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วน และหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กรรมสรรพสามิต ภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนและคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เพื่อค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคไปด้วย และถ้าได้รับความร่วมมือจากผู้บริโภค ภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมผลักดันในวงกว้างขึ้น ก็เชื่อว่าเรื่องลดการบริโภคอาหารเค็มจัด จะมีผลเป็นรูปธรรมให้เห็นชัดขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ ประชาชน ผู้บริโภคจะเจ็บป่วยจากการกินเค็มลดน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพของทุกคนด้วย
“หากเรามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจัดสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการกินหวาน มัน เค็ม ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค NCDs ได้มากขึ้น แต่การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก และอาจจะต้องใช้เวลา เช่น บางคนไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่ลดการดื่ม ไม่เลิกสูบบุหรี่ และไม่อยากลดหรือเลิกทานอาหารรสจัด ซึ่งมาตรการทางภาษีก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

 

You may have missed