3 องค์กรผนึกกำลังนำร่องนร.วัดสุทธิฯ ก้าวทันโลกเน้นสร้างงาน “นวัตกรรม”

เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ถ.เจริญกรุง นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา นายกสมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม พร้อมด้วย ดร.อัฏฐผล ถิรพรพงษ์ศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสุทธิวราราม และ รศ.ดร.พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน หรือการเซ็นเอ็มโอยู (MOU) เพื่อสนับสนุนโครงการโรงเรียนนวัตกรรมสร้างสรรค์ “สุทธิวราราม” (SCIS) ทั้งนี้ พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ได้มอบเงินนำร่องสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้จำนวน 200,000 บาท และ นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา นายกสมาคมฯ ได้มอบเงินสนับสนุนเพิ่มให้อีก 100,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 300,000 บาท เพื่อสมทบทุนโครงการนี้ให้กับนักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิฯ ตั้งแต่มัธยมต้นไปจนถึงมัธยมปลาย ในการต่อยอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมต่างๆเพื่อให้ทันยุคสมัยใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมามากมาย

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือร่วมใจของ 3 ฝ่ายคือ สมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม, ร.ร.วัดสุทธิวราราม และ วัดสุทธิฯ ที่ต้องการนำร่องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกฝ่ามือ อีกทั้งพวกเราทุกคนต้องเดินตามให้ทันมิเช่นนั้นก็จะเป็นคนตกเทรนด์ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ คือ การเปิดโอกาสให้กับเด็กรุ่นใหม่ในรั้ว “ชมพูขาวเขียว” แห่งนี้ ได้มีโอกาสสัมผัสในการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่ตัวเองสนใจเพื่อเพิ่มการเรียนรู้ให้มากขึ้น พร้อมกันนี้เรายังได้ทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่มีความถนัดและรู้จริงในเรื่องนี้อยู่แล้วคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วย เนื่องจากนวัตกรรมต่างๆนั้นมีหลายรูปแบบเริ่มจากข้อ 1.โปรดักส์อินโนเวชั่น คือ การเปลี่ยนแปลงในผลิตภัณฑ์หรือบริการของ 2.โพรเซส อินโนเวชั่น คือ การเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต หรือ ขบวนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ 3.โพรซีฟชั่น อินโนวั่น คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสินค้า หรือบริการเปลี่ยนตำแหน่งผลิตภัณฑ์ และ 4. พาราดามอินโนเวชั่น คือ การมุ่งให้เกิดนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงกรอบความคิด ทั้งหมดนี้เราต้องการให้ทุกคนได้เรียนรู้และพัฒนาอย่างจริงจังเกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆบนโลกใบนี้โดยทางเราก็จะมีงบประมาณสนับสนุนให้แต่ละโปรเจ็คไปตามความเหมาะสม ส่วนตัวอยากเห็นนร.วัดสุทธิฯ เป็นผู้คิดประดิษฐ์และริเริ่มในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมและส่วนรวมของประเทศชาติต่อไป

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า หลายประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในทวีปยุโรป รวมไปถึงประเทศใกล้บ้านเราอย่าง ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก คือ จีน ได้ส่งเสริมพัฒนาให้เด็กรุ่นใหม่ของเขาพัฒนานวัตกรรมต่างๆอย่างดีเป็นระบบ อาทิ การเกษตร, ภาษา, การพิมพ์, ขนส่ง และ แนววิทยาศาสตร์สมัยใหม่ให้เป็นผู้นำ จนสามารถสร้างเงินและรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล เห็นได้จากมูลค่า จีดีพี โดยรวมของประเทศจีนเกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรมมีมากถึง 5-7 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ถือว่า มีมูลค่าสูงมาก หรือถ้านับเป็นจำนวนเงินต่อปีก็หลายพันล้านบาท เราเองก็เช่นกันต้องการอยากเห็นเด็กไทยไปสู่จุดนั้นบ้าง ส่วนตัวต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้ทั้ง เจ้าอาวาสวัดสุทธิฯ และ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ นอกจากนี้เรายังจะมีคณะกรรมการคอยติดตามการทำงานอย่างละเอียดแต่ละโครงการ เพื่อต้องการให้คุ้มค่ากับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จ่ายไป

ขณะที่ ดร.อัฏฐผล ได้กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการบริหารสมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม และ เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ที่ให้ความสำคัญในโครงการนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะตกผลึกและได้ลงนามร่วมกันในวันนี้ เพื่อต้องการให้ทุกอย่างเห็นเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ส่วนตัวต้องการให้นักเรียนของเรามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาทั้งในทาง วิศวะ, ศิลปะ, สังคม และอื่นๆ โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ 3 ปี ให้เป็นโรงเรียนชั้นนำสู่การสร้างนวัตกรรม 7 ขั้นตอน เริ่มจาก1.ภายใน 6 เดือนแรก ครู นักเรียน และ ภาคี สร้างไอเดียสู่การเป็นนวัตกรรม 2. ครูนักเรียน และภาคี สามารถสร้างโครงการในสิ่งที่สนใจ 3.ครู นักเรียน และภาคีสามารถสร้างโมเดลเช่น หุ้นยนต์ ได้ 4.ครู นักเรียน และภาคี สามารถสร้างนวัตกรรมได้5.โรงเรียนสามารถพัฒนาเป็นสถาบันวิชาการ “สุทธิ อะคาเดมี่” ได้ 6.โรงเรียนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่สังคม และ 7.โรงเรียนเป็นแม่ข่ายในการพัฒนา ครีเอทีฟ แอนด์อินโนเวชั่น สคูล คอมมูนิตี้ นอกจากนี้ในอนาคตเราจะมีห้องทดลองวิเคราะห์และแยกแยะเกี่ยวกับงานนวัตกรรมขึ้นมาโดยเฉพาะในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆให้กับทุกคนที่สนใจ เพราะเราต้องการเป็นต้นแบบและผู้นำในเรื่องดังกล่าวนี้ส่วนตัวต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

You may have missed