‘คพ’ ลงนาม ‘อจน.’ ฟื้นฟูคุณภาพแหล่งน้ำ ตามแผนจัดการน้ำเสียชุมชนระยะ 20 ปี


เมื่อเวลา 09.00 น. วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำเสียระหว่าง องค์การจัดการน้ำเสีย โดยนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย สังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนายสุชัย เจนพจนารถ รองผู้อำนวยการวิชาการและแผน องค์การจัดการน้ำเสีย ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่องค์การจัดการน้ำเสีย และกรมควบคุมมลพิษ ได้มีการผนึกกำลังร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสียของประเทศไทย โดยการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบูรณาการการทำงานร่วมกันในเชิงรุก มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำเสียในระดับพื้นที่ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์
รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ฐานข้อมูลด้านการจัดการคุณภาพน้ำต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำเกิดความรวดเร็ว และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวถึงความเป็นมาของการลงนามบันทึกความร่วมมือการจัดการคุณภาพน้ำร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อบูรณาการการเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์คุณภาพน้ำของประเทศ ตลอดจนขับเคลื่อนการก่อสร้างและบริหารจัดการ น้ำเสียชุมชน และการบริการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชน ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561– 2580) ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำทั่วประเทศให้อยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ของประชาชนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน และการประเมินสถานการณ์คุณภาพน้ำ ซึ่งจะเป็นการผสานความร่วมมือในการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

You may have missed