สปภ.กทม. นำนวัตกรรมมาทดสอบเพื่อป้องกันเหตุอัคคีภัย – ‘ผอ.สปภ.กทม.’ เปรยอยากเพิ่มสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่นักผจญเพลิง โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล

นายกฯ นักประดิษฐ์ เห็นด้วยพร้อมหนุนเยาวชนให้สร้างสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้จะปฏิวัติการดับเพลิง!

ที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร  ถนนพระรามที่ 6  เขตราชเทวี  พ.ต.ท.สมเกียรติ  นนทแก้ว ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ผอ.สปภ.กทม.) และยังเป็นที่ปรึกษาสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานในการเปิดงานการทดสอบและส่งเสริมนวัตกรรมไทย ที่ขึ้นบัญชีสำนักงบประมาณเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในกิจการ ป้องกันและระงับอัคคีภัยใน เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีนายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่สำนักฯ ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในการทดสอบเป็นจำนวนมาก

ซึ่งบรรยากาศในงานดังกล่าว มีการทดสอบสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ มาปฎิวัติการดับเพลิง เช่น การใช้ลูกบอลดับเพลิง ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดย ใช้พลังงานเสียงความถี่ต่ำตัด โปรตอนเชื้อเพลิงที่แตกตัวเป็นก๊าซ ผสมกับอ๊อกชิเจน และปล่อยสารเคมี ภาย 3 วินาที เพื่อให้สารเคมี ทำปฏิกิริยาระหว่างกรดแก่กับเบสอ่อน จะได้เกลือ และน้ำ ทำปฏิกิริยาทางเคมีให้เกิด อนุมูลอิสระหยุด ทำปฏิกิริยา ลูกโซ่ของเพลิง และการเผาไหม้แบบฉับพลันทำให้เพลิงดับลง และมีการนำสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ดับเพลิง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการดับเพลิงในพื้นที่แคบๆ หรือในพื้นที่ที่มีความยากลำบากในการเข้าถึง และเป็นสิ่งที่จะสนับสนุนเจ้าหน้าที่ ให้สามารถดำเนินการดับไฟได้เร็วขึ้น โดยมีการนำหุ่นยนต์ดับเพลิง เป็นหุ่นยนต์ดับเพลิงลาดตระเวนตรวจสอบป้องกันวัตถุระเบิด รุ่น  RXR – MC80JD สามารถดับเพลิงและควบคุมไฟไหม้ระยะไกล ทำให้ปลอดภัย กับ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ได้นำมาจัดแสดงและทดสอบเพื่อให้ประชาชนเห็นถึงประสิทธิภาพในการดับเพลิง ซึ่งประชาชนต่างตื่นตาตื่นใจในการทดสอบครั้งนี้เป็นอย่างมาก

พ.ต.ท.สมเกียรติ ระบุว่า การนำนวัตกรรมของไทยมาประยุกต์ใช้ในกิจการป้องกันอัคคีภัยนั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการผลักดันให้นวัตกรรมของไทย เกิดประโยชน์สูงสุดในการป้องกันอัคคีภัย  ทั้งนี้ พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร หลายแห่งส่วนใหญ่เป็นตึกสูง และอยู่ในซอยซึ่งมีพื้นที่แคบให้รถสวนทางกันได้เท่านั้น เมื่อเวลาเกิดเหตุไฟไหม้แล้ว มีอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เนื่องจากซอยคับแคบ แต่รถดับเพลิงมีขนาดใหญ่ รวมทั้งรถกระเช้าไม่สามารถเข้าไปได้ การยับยั้งและเข้าช่วยเหลือจึงล่าช้า นำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่อาจจะประเมินค่าได้  ดังนั้น ทาง สปภ.กทม. จึงต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้ในการดับเพลิง เพื่อเป็นการป้องกันในพื้นที่ที่หลากหลายและควบคุมความสูญเสียให้น้อยที่สุด รวมทั้ง ตนยังมีแนวคิดว่า อยากจะให้สวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพิ่มมากขึ้น นอกจากเบี้ยเลี้ยงโดยตนคิดว่า สวัสดิการการรักษาพยาบาล ควรจะมีเพิ่มขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่นักผจญเพลิงเหล่านี้ ต้องทำงานและแบกรับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้ง ในการฝ่าอันตรายเพื่อช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่เกิดไฟไหม้นั้น หากนักผจญเพลิงมีอาการบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ก็ควรให้สวัสดิการการรักษาที่แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ เช่น การรักษาผิวหนังหรือการศัลยกรรม เนื่องจากผจญเหตุอัคคีภัย เป็นต้น

ด้าน นายภณวัชร์นันท์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวความคิดของ ผอ.สปภ.กทม. ที่จะเพิ่มสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่นักผจญเพลิงเพราะพวกเขาต้องทำงานด้วยความเสียสละและฝ่าฟันอันตรายโดยไม่คิดถึงชีวิต เพื่อควบคุมอัคคีภัยให้สงบโดยเร็วที่สุด ดังนั้น การที่จะเพิ่มสิทธิรักษาพยาบาลเพื่อให้พวกเขาโดยเฉพาะก็ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน

นายภณวัชร์นันท์ กล่าวด้วยว่า สำหรับงานในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ในการที่ประชาชนได้ให้ความสนใจในนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะใช้ในการป้องกันอัคคีภัย และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจ ให้เยาวชนไทยสามารถคิดประดิษฐ์สิ่งของหรืออุปกรณ์สักอย่างหนึ่ง เพื่อนำมาใช้เป็นนวัตกรรมในการป้องกันอัคคีภัยและสาธารณภัยอื่นๆ  ซึ่งตนในฐานะนายกสมาคมฯ ก็พร้อมจะสนับสนุน เพื่อให้สิ่งประดิษฐ์ที่เยาวชนคิดขึ้นมานั้น เป็นความจริงและสามารถนำไปใช้งานเพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณชนได้ อย่างไรก็ตาม ตนก็ขอย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอัคคีภัยก็คือ ‘ความไม่ประมาท’ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ เช่น การตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยเสื่อมสภาพ ไม่จุดธูปเทียนบูชาพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทิ้งไว้ การตั้งระบบตัดไฟอัตโนมัติ เป็นต้นซึ่งจะช่วยทำให้ตัวเลขการเกิดเหตุอัคคีภัยลดลงมาได้

++++++++++++++++++++++++++++

You may have missed