วช.แถลงนโยบายขับเคลื่อนแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ Quick Wins จับมือ 20 หน่วยงาน “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง”


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานแถลงข่าวนโยบายขับเคลื่อนแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ Quick Wins โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ในวันพุธที่ 31 มีนาคม 2564 ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานในงาน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายภารกิจตามนโยบายสำคัญของ อว. ในยุทธศาสตร์ Quick Wins เรื่อง “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการเพื่อสร้างกลไกการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยคนเกษียณหรือผู้สูงอายุควรได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นและพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในภาครัฐและภาคเอกชน หรือความต้องการในการทำงานให้ได้มีโอกาสเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง วช. ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ในการกำหนดให้มีแผนงานเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง เพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ให้สามารถเกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่รองรับการได้รับประโยชน์ของผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยกลยุทธ์การขับเคลื่อนโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ในปี 2564 จะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ และสร้าง Platform โดยสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ ในปี 2565 มุ่งเน้นการขยายผลให้ครอบคลุม โดยเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ เสริมทีมสร้างโอกาส เพิ่มความยั่งยืน โดยหน่วยงานขับเคลื่อน และติดตามประเมินผลภาพรวม และในปี 2566 เป็นการผลักดันให้เกิดผล โดยการเพิ่มทักษะอื่นๆ ในการพัฒนาให้เกิดศักยภาพ ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน สร้างอาชีพใหม่สำหรับผู้สูงอายุ โดยการดำเนินงานมีกลไกขับเคลื่อน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” และการขับเคลื่อนจากหน่วยงานความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการร่วมขับเคลื่อน “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง”


ซึ่งงานในวันนี้ได้รับเกียรติจากท่าน ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ในการแถลงนโยบายขับเคลื่อนแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ Quick Wins โครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” และเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือแสดงเจตจำนงในการร่วมขับเคลื่อนโครงการ พร้อมทั้งการชมนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ และนิทรรศการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง
โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้กล่าวในงานว่า “ช่วงอายุหนึ่งที่สำคัญก็คือผู้เกษียณอายุ 60 ไปจนกระทั่งอายุเท่าไหร่ก็ตามที่ยังมีพลัง จากเดิมที่เรามองผู้เกษียณเป็นผู้ที่เป็นปัญหา เป็นผู้ที่กำลังจะพักผ่อนอยู่เฉยๆเราจะเปลี่ยนเป็นพลัง คนในวัย Yold (วัยเริ่มแก่) สามารถที่จะมาเป็นพลังได้ในทางสุขภาพ บอกว่าการแก่คือโรคชนิดหนึ่งสามารถแก้ไขได้หมด เขาท้าทายว่าความแก่ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่มันเป็นธรรมชาติที่เราสามารถปรับปรุงแก้ไขธรรมชาติ ยืดอายุของคนออกไปได้และก็ยืดอายุที่มีสุขภาพดีออกไปได้ด้วย นอกจากนั้นการที่คนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประชากร เราคิดนอกกรอบ เราคิดเปลี่ยนเขามาเป็นพลัง ในวันนี้มีคนจาก 20 หน่วยงานจับมือกัน ชี้ให้เห็นว่าการที่จะเปลี่ยนคนเกษียณให้เป็นพลังมันมีกระบวนการมีรายละเอียดมีข้อปลีกย่อยเยอะแยะทั้งเรื่องของสุขภาพทั้งเรื่องการเรียนรู้ทั้งเรื่องการเข้ากับคนรุ่นก่อนได้ ถ้าคนในวัย Yold (วัยเริ่มแก่) ไม่สรรหา คิดว่าตัวเองเก่งคิดว่าอยู่มานานก็จะเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ต้องมีจิตวิทยาว่าด้วยจะทำยังไงให้คนวัย Yold คิดในเชิงบวกทำยังไงให้คนวัยอื่นๆเห็นว่าคนในวัย Yold มีประโยชน์ ที่สำคัญสังคมจะต้องฝึกเห็นคนทุกวัยมีความหมายหมดและก็ต้องฝึกให้คนต่างวัยไม่เห็นปรปักษ์เป็นคู่แข่งเป็นคู่เปรียบเทียบ ประสานคนทุกช่วงวัยได้ด้วยกันหมดในครอบครัวก็เป็นคนสองรุ่นสามรุ่นสี่รุ่นห้ารุ่นได้ก็ยิ่งดี ในจังหวัดในอำเภอ คนทุกวัยมีความหมายหมด คนหนุ่มคนสาวก็กำลังมีความว่องไว มีความไม่รู้อะไรหลายๆอย่างที่จะต้องรู้ว่าอะไรจะสำเร็จ ส่วนผู้สูงวัยก็เต็มไปด้วยปัญญามีประสบการณ์และบวกกับจิตใจที่ตามโลกทันทำให้ Yold มีบทบาท Yold ต้องตามโลกทัน เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายทั้งปวงทำยังไงให้ Yold ตามโลกทัน ผมเห็นโอกาส เห็นอนาคต เห็นความหวังของประเทศ เดิมเรามองว่าคนสูงวัยเป็นปัญหาจะเป็นตุ้มถ่วงสังคม อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่มองด้วยมุมมองแบบนี้ แต่ว่าข้อเท็จจริงแบบเดิมมองด้วยมุมมองบวกกับหลักฐานบวกกับหลักวิชาที่ผมยกตัวอย่าง Yold เป็นพลังเศรษฐกิจ Yold สามารถทำอะไรได้ และ Yold เป็นคนที่นอกจากมีอายุมากแล้วยังเป็นคนที่มีสุขภาพดีด้วย ก็จะเป็นพลังทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ของบ้านเมือง ”
ในงานวันนี้ยังมีกิจกรรมการเสวนา “Platform ความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย : เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ที่ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ประณีต ส่งวัฒนา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเสวนาและตอบข้อซักถาม ในประเด็นการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน“เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขยายผลโครงการ เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและวิถีชีวิตใหม่ มีทักษะสำหรับสร้างอาชีพและสามารถยกระดับเศรษฐกิจและสังคม โดยการเสริมสร้างและเติมพลังสู่ผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการบูรณาการและร่วมมือกันขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ซึ่งมีการดำเนินงานในลักษณะความร่วมมือระหว่าง วช. และหน่วยงานความร่วมมือ 20 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จังหวัดสงขลา จังหวัดขอนแก่น การเคหะแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งขณะนี้มีโครงการสำคัญที่จะเกิดกลไกผลักดันตามเป้าประสงค์ดังกล่าว วช. จึงได้กำหนดจัดแถลงข่าวกิจกรรมโครงการและพิธีลงนามความร่วมมือแสดงเจตจำนงในการร่วมขับเคลื่อน “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ขึ้น
ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้บริหาร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานความร่วมมือ ผู้ร่วมเสวนา แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ประมาณ 200 คน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ดำเนินนโยบายตามเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะการอยู่รอดในโลกยุคใหม่ สามารถต่อสู้กับความยากจน สามารถดูแลผู้สูงอายุ และให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้

You may have missed