“สทท.” ผุดไอเดีย”ธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว” วอนรัฐตั้งกองทุนซ่อมสร้างคน-แหล่งท่องเที่ยว รอโอกาสหลังพ้นวิกฤต

วันที่ 25 มกราคม 2564 ณ ห้องประชุมอโนมา 3 โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) จัดแถลงข่าว “ผลการศึกษาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว และทางรอดท่องเที่ยวไทย”
โดยมีนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เป็นประธาน พร้อมเข้าร่วมงานรับฟัง”สรุปผลการศึกษาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว ปี 2563 จากการประเมินของ รศ.ผกากรอง เทพรักษ์ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวราว 6.69 ล้านคน ซึ่งลดลงเท่ากับ 83.22% โดยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.33 แสนล้านบาท ลดลง 82.58% ซึ่งจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบสู่ภาคแรงงานท่องเที่ยว โดยมีคนตกงานทั้งระบบกว่า 4.1 ล้านคน แยกเป็น ไตรมาส 2/2563 จำนวน 2.6 ล้านคน, ไตรมาส 3/2563 จำนวน 5.37 แสนคน และไตรมาส 4/2563 มีจำนวน 1.04 ล้านคน
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นยังได้ข้อสรุปว่าโรคโควิดระลอกใหม่ ตอนนี้มีแรงงานตกงานเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีทุนพอที่จะรักษาการจ้างงานได้ แต่หากมองการเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวเท่ากับ 62 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้วที่ 60 ก็เนื่องมาจากผู้ประกอบการได้รับอานิสงค์จากโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น โครงการกำลังใจ, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว การซื้อสินค้าของฝากและร้านอาหารได้พอสมควร
อย่างไรก็ตามผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 1/2564 เท่ากับ 53 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำมากผิดปกติ คาดว่าเกิดจากความกังวลของผู้ประกอบการจากการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า คาดการณ์ในอนาคต เมื่อมีการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 อย่างแพร่หลายแล้ว การท่องเที่ยวไทยจะสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจจะปิดกิจการไปแล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียโอกาสในการที่จะให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
สทท. จึงเล็งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้าง Tourism Labor Bank หรือ ธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือผู้ถูกพักงานสามารถสมัครเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงาน และผู้ประกอบการสามารถเข้ามาเลือกจ้างผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการ โดยแรงงานที่ยังเหลืออยู่จะได้รับการแนะนำเพื่อนำไปพัฒนาทักษะ Up-skill / Reskill และเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ
“ในเวลานี้ สทท.ได้เริ่มมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆของรัฐ ให้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ สำหรับธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว หรือ Tourism Labor Bank เป็นการ Co-Pay เพื่อสนับสนุนการจ้างงานของภาคเอกชน การให้ภาครัฐจ้างแรงงานที่มีประสบการณ์และทักษะไปช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เช่น การนำเชฟจากโรงแรม 5 ดาว ไปช่วยสร้างเมนูอาหารให้กับชุมชน การพัฒนาไกด์ให้เป็น Influencer ไปเล่าเรื่องแหล่งท่องเที่ยว การนำคนจากบริษัทเที่ยวไปสร้างเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ รวมถึงการ Workshop คน 3 วัย ให้สามารถสร้างสินค้าและเนื้อหา ที่น่าสนใจและไปเผยแพร่ใน Social Media และ Platform ในภาษาต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่แรกที่คนจากทั่วโลกจะนึกถึงและต้องการกลับมาเยือนเมื่อวิกฤต Covid-19 ผ่านพ้นไป” นายชำนาญ กล่าว
ด้านมาริสา สุโกศล หนุนภักดี ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)
เปิดเผยว่า เบื้องต้นทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินกิจการไว้ เพราะยังมีบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่มากกว่า 3 ล้านคน และเมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่จะเข้ามา ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและพนักงานจะต้องปรับตัวและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองให้ได้เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างและกระจายรายได้ให้กับประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงสภาวะปกติในอีกสองปีข้างหน้า
“เราจึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยประคองผู้ประกอบการให้ผ่านวิกฤตไปให้ได้ด้วยมาตรการเยียวยาต่างๆ ทั้งการช่วยลดค่าใช้จ่าย​ เพิ่มสภาพคล่อง​ และเสริมรายได้ หามาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี​ ตั้งมาตรฐานเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ และ​ มาตรการ Co-pay หรือการที่ภาครัฐช่วยจ่ายค่าจ้างสำหรับผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมที่ยังคงจ้างงานอยู่เป็นเวลา 1 ปี เราอยากให้ภาครัฐเล็งเห็นในความสำคัญของผลสำรวจดัชนีที่ชี้วัด” นางมาริสา กล่าวสรุป
ขณะที่นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ
นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) กล่าวเสริมว่าหลังจากที่ประเทศไทยเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้แล้ว มาตรการแรกที่ต้องทำคือการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ครอบคลุมสินค้าการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ การกระตุ้นการเดินทางและจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาบันการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพรีเมียมเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการจัดให้มีคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนไทยเที่ยวไทยอย่างจริงจัง โดยแผนงานต่างๆนั้นต้องเริ่มทำตั้งแต่ช่วงนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความพร้อม เกิดสินค้าทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ยกระดับมาตรฐานและมีศักยภาพพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จะนำข้อสรุปผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว และข้อเสนอแนะจากหลายภาคส่วนเพื่อนำเสนอวาระผ่านกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในลำดับต่อไป

You may have missed