เรือนจำจังหวัดจันทบุรี เรือนจำต้นแบบการคืนผู้ต้องขังสู่สังคม
เรือนจำจังหวัดจันทบุรี เรือนจำต้นแบบการคืนผู้ต้องขังสู่สังคม
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่า 380,000 คน จัดเป็นอันดับที่ 6 ของโลกและเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ข้อมูลอัตราการกระทำผิดซ้ำจากกรมราชทัณฑ์ยังระบุว่า 14% ของผู้ต้องขังที่พ้นโทษในปี พ.ศ. 2557 กลับมากระทำผิดซ้ำภายในระยะเวลา 1 ปี และอีก 31% กลับมากระทำผิดซ้ำในเวลา 3 ปี อุปสรรคของกระบวนการคืนผู้ต้องขังกลับสู่สังคมนี้เป็นเพราะอดีตผู้ต้องขังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการกีดกั้นจากชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ในขณะเดียวกัน ผู้ต้องขังบางคนก็ไม่ได้รับการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยให้ปรับตัวและประสบความสำเร็จได้ภายหลังจากพ้นโทษ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) ได้เชิญคณะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในจังหวัดภาคใต้เข้าศึกษาการปฏิบัติงานของเรือนจำจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือนจำต้นแบบของกรมราชทัณฑ์ เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ (The Bangkok Rules) หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures of Women Offenders) เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด และวิธีการสร้างเรือนจำต้นแบบ โดยมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่ได้รับความรู้ และ แรงบันดาลใจในการนำไปปรับใช้กับเรือนจำของตนได้
ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “TIJ สนับสนุนและผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพให้เกิดขึ้นจริงในระดับสากล แต่ข้อกำหนดนี้ต้องนำมาใช้ในเรือนจำของประเทศไทยก่อนเป็นลำดับแรก แม้บางคนอาจคาดว่าทรัพยากรและกำลังคนที่ไทยมียังไม่เพียงพอที่จะดำเนินการตามข้อกำหนดฯ แต่โครงการเรือนจำต้นแบบเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เรือนจำต่างๆ ในประเทศไทยมีศักยภาพในการปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้แม้จะมีข้อจำกัดดังกล่าวก็ตาม”
การฟื้นฟูผู้ต้องขังและคืนผู้ต้องขังกลับสู่สังคมที่เรือนจำจังหวัดจันทบุรีเป็นความร่วมมือระหว่างเรือนจำและชุมชน โดยมีต้นแบบที่เรียกว่า “เรือนจันแลนด์” ซึ่งเป็นศูนย์นันทนาการชุมชนที่ดำเนินการโดยเรือนจำ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมโครงการฝึกอาชีพของผู้ต้องขังที่เชื่อมโยงผู้ต้องขังและชุมชนเข้าด้วยกัน ปัจจุบันเรือนจันแลนด์ประกอบด้วย “คาเฟ่อินสไปร์” และ“ร้านอาหารเรือนจันครัวไทย” ในอนาคตอันใกล้นี้ เรือนจันแลนด์จะมีร้านขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์นวดผ่อนคลาย และร้านซ่อมรถยนต์ ซึ่งบริการทั้งหมดนี้จะดำเนินงานโดยผู้ต้องขัง และมีคนในชุมชนเป็นลูกค้าประจำ
โครงการคืนผู้ต้องขังสู่สังคมคือผลงานของ ดร.ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี ผ่านแนวคิดว่า “หากผู้คนเห็นภาพผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ เขาจะรู้สึกว่าคนเหล่านี้น่ากลัว แต่หากเขาเห็นภาพผู้ต้องขังให้บริการในร้านอาหารหรือทำงานในโรงงาน เขาก็จะเกิดความรู้สึกว่าคนเหล่านี้ก็คือคนปกติทั่วไป”
นอกจากนี้คณะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในจังหวัดภาคใต้ยังได้เข้าเยี่ยมชมภายในเรือนจำและได้ลองใช้บริการต่าง ๆ ของผู้ต้องขังหญิง เช่น การทำนายด้วยไพ่ทาโรต์ การนวด ชิมอาหารไทยโบราณ และขนมไทยและนานาชาติ ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงทักษะของผู้ต้องขัง ตลอดจนสร้างบรรยากาศการพูดคุยซักถามตลอดการศึกษาดูงาน
ดร.ชาญ กล่าวว่า “เราต้องทำทุกสิ่งที่เราทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะพวกเขา (ผู้ต้องขัง) อยู่กับเราเพียงสองหรือสามปี แต่เขาจะอยู่กับชุมชนไปตลอดชีวิต ดังนั้น ชุมชนจึงเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการคืนผูุ้้ต้องขังสู่สังคม ดังนั้น ต้องให้เวลาคนในชุมชนเปลี่ยนความคิดและสร้างการยอมรับอดีตผู้ต้องขังคืนสู่สังคม”
นอกเหนือจากการศึกษาดูงานเรือนจำแล้ว คณะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในจังหวัดภาคใต้ยังได้เข้าร่วมการสัมมนา โดยมีผู้นำจากทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมคืนผู้ต้องขังสู่สังคม เช่น ประสบการณ์และแนวคิดของเจ้าของบริษัทหลายแห่งที่ได้จ้างอดีตผู้ต้องขังเข้าร่วมงาน และยังคงดำเนินงานร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน
ดร.พัชริศร์ หัตถวิจิตรกุล ผู้จัดการโรงงานอุตสาหกรรมกระเบื้องดินเผาเด่นจันทร์ ชี้ถึงความสำคัญของความเมตตาว่า “การยอมรับผูุ้้ต้องขังคืนสู่สังคมต้องอาศัยความเมตตา เราต้องมองผู้ต้องขังเหล่านี้ว่าเขาคือคนที่สมควรได้รับโอกาสที่จะพลิกชีวิต”
คุณนพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด เสริมว่านอกจากความเมตตา “เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมทั้งมอบความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีพอย่างสุจริตให้พวกเขาด้วย”
ด้าน คุณเด่นศักดิ์ ศรบัณฑิต ผู้บริหารออบิทผับและร้านอาหารฝากจันทร์ หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของโครงการคืนผู้ต้องขังสู่สังคม กล่าวว่า “ตัวผู้ต้องขังเองก็จำเป็นต้องพยายามอย่างมากเพื่อสร้างความไว้วางใจ ซึ่งบางครั้งการสร้างความไว้วางใจนี้ อาจเริ่มต้นจากการแต่งกายให้เหมาะสม และปกปิดรอยสักที่อาจจะสร้างความกังวลใจให้กับลูกค้าได้”
การศึกษาดูงานที่เรือนจำจังหวัดจันทบุรีช่วยสะท้อนให้เห็นว่า การคืนอดีตผู้ต้องขังสู่สังคมอาจไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จอย่างยั่งยืนได้หากปราศจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เรือนจำ เอกชน และ ชุมชน ทั้งนี้ TIJ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เรือนจำทั้งในและต่างประเทศนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพจนกลายเป็นเรือนจำต้นแบบ และหน่วยงานที่สร้างเสริมหลักนิติธรรมในสังคม ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานด้านดังกล่าวต่อไปเพื่อให้เกิดผลที่ยั่งยืน