กระทรวงแรงงาน คุมเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว
กระทรวงแรงงาน คุมเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว
แจ้งมาตรการให้นายจ้างคัดกรอง เฝ้าระวัง สำรวจตรวจสอบลูกจ้างในสถานประกอบการและศูนย์ PIPO พร้อมร่วมมือสภากาชาดไทย กรมอนามัย สาธารณสุขในพื้นที่ ให้ความรู้สุขอนามัยวิธีการป้องกันตนเองมิให้ติดเชื้อโควิด -19 ควบคุมอัตราการแพร่ระบาดเพิ่ม
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่ยังพบการแพร่ในระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้มีมาตรการเข้มงวดเพื่อมิให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งได้แก่ 1) การชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 2) การผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปจนถึง 30 พฤศจิกายน 2563 3) ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันนำร่องในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและขยายความร่วมมือไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด – 19
การดำเนินการ ประกอบด้วย จัดทำเอกสารเผยแพร่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้สามารถสื่อสารเข้าใจง่าย รวมทั้งการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาลดผลกระทบ การมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์ เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ถุงยังชีพ เป็นต้น รวมทั้งกระบวนการการเข้ารับการตรวจรักษาพยาบาลกรณีมีประวัติการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนขั้นตอนการคัดกรอง การกักตัวเอง 14 วัน ตามกระบวนการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เสริมสร้างสร้างการรับรู้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 4) สำรวจตรวจสอบ (Check List) แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ให้มีการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด 5) แจ้งมาตรการให้นายจ้างในสถานประกอบการมีการคัดกรองลูกจ้างแรงงานต่างด้าวและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 6) ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) 7) การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคโควิด – 19 ในสถานประกอบการ โดยดำเนินการขอความร่วมมือสถานประกอบการทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด – 19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 8) การให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด – 19 9) การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน และ 10) ลดหย่อนอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน
นายสุทธิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากแรงงานต่างด้าวมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้มีสายด่วน 1506 กด 2 โดยมีล่ามคอยให้บริการตอบคำถามเป็นภาษาเดียวกันกับแรงงานต่างด้าว ซึ่งช่องทางนี้จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นช่องทางในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพของแรงงานรวมทั้งเป็นการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนอีกด้วย