วัฒนธรรม ธรรมชาติของมนุษย์ในการทักทายกันในแต่ละชนชาติ

โดย…นายธีระพงษ์ โสดาศรี
อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
……………………….
วัฒนธรรมในเรื่องของการไหว้นั้น มีความเป็นมาอย่างไร ไม่มีหลักฐานที่ระบุไว้แน่ชัด นายพะนอม แก้วกำเนิด อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ได้ให้ความเห็นว่า
การไหว้นั้นเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่จะแสดงความรัก ความเคารพต่อกัน เนื่องจากมนุษย์มีสมอง มีพัฒนาการที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงมีความคิดว่าทำอย่างไรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะกินอาหารอย่างไรจึงจะดีต่อสุขภาพ แต่งตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม ที่อยู่อาศัยทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย รวมไปถึงเมื่อเจอกันจะทักทาย จะแสดงความรักต่อกันอย่างไรดี
โดยธรรมชาติแล้วการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกัน เป็นภาษาท่าทางที่แสดงออกถึงความรักที่มีต่อกัน สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมวมักจะแสดงความรักกับเจ้าของด้วยการเข้ามาสัมผัสคลอเคลียด้วย มนุษย์ก็เช่นกันที่มีการแสดงความรักต่อกันด้วยการโอบกอด
หลายประเทศทางยุโรปใช้การสัมผัสมือเมื่อพบกัน บางประเทศใช้แก้มสัมผัสกัน ใช้หน้าผากสัมผัสกัน หรือใช้จมูกสัมผัสกันก็มี แต่ทางแถบเอเชียนั้นการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่นนั้นถือว่าไม่สุภาพนัก คนทางแถบเอเชียจึงใช้การสัมผัสตัวเองเป็นการแสดงการทักทายหรือทำความเคารพ
เช่น ชาวจีนใช้มือทั้งสองข้างสัมผัสกันเพื่อแสดงการคารวะ  อินเดียใช้ฝ่ามือทั้งสองประนมประกบกันเหมือนดอกบัวตูม เพื่อแสดงความเคารพและบูชา ของไทยเราน่าจะรับวัฒนธรรมนี้มาจากอินเดีย นำมาปรับปรุงให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนไทยจึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการไหว้ที่แบ่งเป็นระดับต่างๆ ขึ้นมา โดยใช้มือกับใบหน้าเป็นตัวแบ่งระดับ
ข้อมูล : เรียบเรียงจากบทความของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
……………………….
หมายเหตุ : คำว่า “คารวะ” (คา ระ วะ) เป็นคำนาม หมายถึง ความเคารพ, ความนับถือ. ถ้าเป็นคำกริยา หมายถึง แสดงความเคารพ.
ข้อมูล : ราชบัณฑิตฯ
……………………….
15 มี.ค. 63
อนุญาตเผยแพร่ได้
……………………….

You may have missed