สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเวที TIJ Youth Forum ดึงเยาวชนอาเซียนร่วมถกประเด็นแก้ปัญหา Cybercrime
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเวที TIJ Youth Forum ดึงเยาวชนอาเซียนร่วมถกประเด็นแก้ปัญหา Cybercrime
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเวทีคู่ขนาน TIJ Youth Forum ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอาเซียนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมอาญาที่เกี่ยวข้องกับ “อาชญากรรมทางไซเบอร์” ระหว่างวันที่ 25-29 ก.พ. นี้ หวังสร้างพื้นที่กลางระดมสมองและหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เพื่อการบรรลุเป้าหมายในภาพกว้างและเกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนว่าด้วย การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The Asean Conference on Crime Prevention and Criminal Justice) หรือ ACCPCJ
ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 25-29 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งประเด็นหลักในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ (Cybercrime) ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมของอาเซียนในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาคมสามารถบรรลุเป้าหมายแบบองค์รวมและเกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน TIJ เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “เด็กและเยาวชน” ในการมีส่วนร่วมแสดงความเห็นต่อความท้าทายกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและ หลักธรรมาภิบาลในอนาคต จึงได้จัดเวที TIJ Youth Forum คู่ขนานกับเวที ACCPCJ ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อส่งเสริมศักยภาพ
เชื่อมโยงเครือข่าย และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนมีพื้นที่ในการถกประเด็นเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง ตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน (Culture of Prevention) ซึ่งเน้นการประสานการทำงานระหว่าง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในการสร้างสังคมอาเซียนที่สงบสุข มั่งคั่ง และมีความเท่าเทียมกัน
“เพราะเด็กและเยาวชนเกิดมากับเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีทักษะการใช้งานที่ดี สามารถเข้าถึงข้อมูลทางออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ การเปิดโอกาสให้ผู้แทนเด็กและเยาวชนในภูมิภาคอาเซียนได้มีส่วนร่วมต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรมในอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมายแบบองค์รวมและเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน” นายวงศ์เทพ กล่าว
อีกทั้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ TIJ Youth Forum ในครั้งนี้ จึงได้นำ “กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design thinking” เข้ามาเป็นเครื่องมือในการนำไปสู่ข้อเสนอแนะผ่านการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและศึกษาแนวโน้มของปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสามารถออกแบบวิธีการป้องกันปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รอบด้าน และยั่งยืน
นอกจากนี้ TIJ Youth Forum ยังมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือของกลุ่มเยาวชนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความรู้และความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชั่น ตลอดจนสร้างความเป็นเอกภาพท่ามกลางบริบทที่แตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และภาษาผ่านการอภิปรายที่เปิดกว้าง
ทั้งนี้ ข้อเสนอของเยาวชนที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ จะได้รับการเสนอต่อที่ประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียน และเมื่อการประชุมสิ้นสุดลง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยจะรวบรวมรายงานและข้อเสนอแนะ พร้อมจัดทำเป็นข้อสรุปเชิงนโยบายต่อไป