บูรณาการคลองยม-น่านแก้น้ำแล้งลดน้ำหลากสุโขทัยและอุตรดิตถ์

กรมชลประทานเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับประชาชนเร่งปรับปรุงคลองยม-น่าน แก้แล้ง-น้ำไหลบ่าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท/ปี

นายไชยงค์ จงอาสาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการที่แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักที่ยังไม่มีการบริหารจัดการภายในกลุ่มลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดปัญหาน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรไปจนถึงเทศบาลเมืองสุโขทัย กระทบต่อเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท/ปี กรมชลประทานจึงพิจารณาศึกษาทบทวนโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัยใน 2 อําเภอ คือ อ.สวรรคโลก อ.ศรีนคร และจ.อุตรดิตถ์ที่  อ.พิชัย ซึ่งต้องบริหารจัดการด้วยการตัดยอดน้ำบางส่วนในฤดูน้ำหลากและปรับปรุงคลองหกบาทให้สามารถรองรับน้ำ ลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัย บรรเทาปัญหาน้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ และสามารถเก็บกักน้ำใช้อุปโภค บริโภคในฤดูแล้งได้

       ทั้งนี้ กระบวนการศึกษาทบทวนโครงการ ในพื้นที่ จ.สุโขทัยและจ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ดำเนินการศึกษาทบทวนและสร้างการรับรู้ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย จำนวน 3 จุด ได้แก่
 
       1. ประตูระบายน้ำคลองหกบาท หมู่ 6 ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เป็นจุดที่รับน้ำจากแม่น้ำยมมาเข้าคลองยม-น่าน แล้วส่งน้ำไปตามลำคลองหกบาทไหลไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชักน้ำใหม่ที่หมู่ 13 ต.ป่ากุมเกาะ ไปจนถึงประตูระบายน้ำคลองตะคร้อ ต.ในเมือง ซึ่งปกติน้ำในคลองยม – น่าน ใช้ในภาคการเกษตร และสําหรับอุปโภคบริโภค ส่วนในฤดูน้ำหลากใช้เป็นคลองสําหรับระบาย น้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจของจ.สุโขทัย

       2. ประตูระบายน้ำคลองตะคร้อ หมู่ 9 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เป็นจุดที่รับน้ำจากแม่น้ำยมที่มาตามคลองหกบาท แล้วผันออกไป 2 สาย โดยสายแรก จากประตูระบายน้ำคลองตะคร้อ ผันน้ำไปตามลําคลองยม-น่าน ออกไปแม่น้ำน่านที่ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ส่วนสายที่สอง ประตูระบายน้ำคลองน้ำยมเก่า ผันน้ำไปตามลําคลองน้ำยมเก่าออกไป อ.ศรีสําโรง

       3. แนวคลองชักน้ำลงแม่น้ำน่าน ที่หมู่ 1 ต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เป็นจุดที่ผันน้ำจากคลองยม-น่าน ลงแม่น้ำน่าน ในปริมาณ 350 ลบม./วินาที ประโยชน์ของน้ำก่อนผันลงไปแม่น้ำน่าน มีพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำที่ผันลงแม่น้ำน่าน ในฤดูปกติ คือภาคเกษตร ในพื้นที่ ต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ส่วนในฤดูน้ำหลาก เป็นจุดที่เร่งระบายน้ำออกไปเพื่อช่วยระบายน้ำท่วมจากพื้นที่เกษตรและพื้นเศรษฐกิจ จ.สุโขทัย

      โดยลักษณะองค์ประกอบการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย จะมีการปรับปรุงคลองหกบาทช่วง กม.2+600 ถึง กม.5+700 ให้มีความยาวประมาณ 3.10 กม.จะขุดขยายให้กว้าง 65 เมตร ลึก 5.90 เมตร สามารถรับน้ำได้ 500 ลบม./วินาที คันคลองตลอด 2 ฝั่งกว้าง 6 เมตร, กม.0+000 ถึง กม.26+000 มีความยาวประมาณ 26 กม. จะขุดขยายให้ท้องคลองกว้าง 33 เมตร ลึก 5.85 เมตร สามารถรับน้ำได้ 300 ลบม./วินาที คันคลองตลอด 2 ฝั่งกว้าง 6 เมตร, กม.26+000 ถึง กม.37+600 มีความยาวประมาณ 11.60 กม.จะขุดขยายให้กว้าง 40 เมตร ลึก 6.70 เมตร สามารถรับน้ำได้ 350 ลบม./วินาที คันคลองตลอด 2 ฝั่งกว้าง 6 เมตร

      มีการขุดลอกคลองชักน้ำขนาด 250 ลบม./วินาที เพื่อชักน้ำจากแม่น้ำยมลงคลองหกบาท บริเวณกม.2+600 ขุดลอกแนวใหม่ประมาณ 400 เมตร สร้างสะพานรถยนต์ข้ามคลอง ก่อสร้างประตูระบายน้ำแห่งใหม่ และขุดลอกจากคลองยม-น่าน ความยาวประมาณ 300 เมตร ก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามคลอง สร้าง ทรบ.ปากคลอง ควบคุมน้ำและป้องกันตลิ่งทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำน่าน

      นอกจากนี้จะปรับปรุงประตูระบายน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ 1. ปตร.ปากคลองตะคร้อ (กม.0+067) 2. วังทอง (กม.6+055) 3. หนองปักประทุ่ม (กม.14+900) รวมถึงการสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง สร้างสะพานรถยนต์กรมทางหลวง 4 แห่ง สะพานรถไฟ 1 แห่ง และปรับปรุงท่อส่งน้ำ 1 แห่ง

You may have missed