เปิดลายแทง “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย” อุดรธานี เมืองแห่งศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ร่วมกับแอปพลิเคชั่น TikTok จัดกิจกรรม โครงการสร้างสรรค์ส่งเสริมสินค้า (Tourism Treasures throughout Thailand) หรือ “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย” เชิญชวนบุคคลทั่วไป ร่วมสนุกกดไลก์ และแชร์วิดีโอ แนะนำขุมทรัพย์ท่องเที่ยวที่โดนใจตนเองไปยัง Facebook หรือ Instagram จากนั้น Hashtag #ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย โพสท์แชร์ พร้อมเขียนแคปชั่นสุดเจ๋งเล่าเหตุผล เพื่อบอกต่อกิจกรรมผ่านโซเชียลมีเดียให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง
ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พาผู้โชคดี 10 ท่าน พร้อมสื่อมวลชน ร่วมเดินทางไปเบิกร่องโครงการขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย ในเส้นทางท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ได้เกิดการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นขุมทรัพย์ท่องเที่ยวของไทย และบอกต่อผ่านโลกออนไลน์ในวงกว้าง
ด้วยความโชคดีที่ทางจังหวัดอุดรธานีได้บูรณะอาคารราชินูทิศ อันเก่าแก่อายุกว่า 90 ปี พร้อมจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ณ เวลานี้เสมือนกลับมามีชีวิต และเพิ่งเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทางประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้มาเยือนเข้าถึงรากเหง้าดินแดนศิลปะอุดรธานีแห่งนี้ได้ชัดเจน
ภายในพิพิธภัณฑ์สีเหลือง จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดอุดรธานี นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์, โบราณคดี, ธรรมชาติวิทยา, ธรณีวิทยา, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม แม้ยุคไดโนเสาร์บ้านเชียงจะผ่านมากว่า 5,000 ปี ก็ยังมีเรื่องราวให้กล่าวขานผ่านแสง-สี-เสียง ให้ได้ประทับใจ
“วัฒนธรรมอาหาร” จังหวัดอุดรธานี มีเรื่องราวมากมาย ผ่านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ความหวาดระแวงในสงคราม จนวิวัฒน์มาสู่เมนูอาหารเพื่อความอยู่รอด
ดังเช่น เส้นแป้งสีขาวข้น จมอยู่บนถ้วยชามใบโอ่ มีหมูยอ, ซึ่โครง ลอยคอโรยด้วยหอมเจียว และผักชีฝรั่งซอยหั่น บีบมะนาวปรุงรส เค็ม-เผ็ด ได้ตามอำเภอใจ คนเวียดนาม เรียก “เฝอ” คนลาว เรียก “ข้าวเปียก” แต่ไทยเราเรียก “ก๊วยเตี๋ยวญวน” อีกหนึ่งเมนูอาหารเวียดนามที่ขึ้นชื่อ ไม่ใช่แค่ “แหนมเนือง” ปัจจุบัน “ก๊วยเตี๋ยวญวน” เป็นอาหารเพื่อนบ้าน หารับประทานได้ทุกเวลาในจังหวัดอุดรธานี
ส่วนอาหารเช้า เมนู “ไข่กระทะ” กับขนมปังฝรั่งเศส ยังคงตอกย้ำวัฒนธรรมอาหารตะวันตก ที่คนไทยรับตกทอดมาจากทหารจีไอ ในยุคสงครามปราบคอมมิวนิสต์ ที่อย่างน้อยยามเช้าพระอาทิตย์เฉิดฉาย ได้เห็นอาหารเช้า ไข่ดาว-หมูแฮม เหล่านักรบต่างแดน ก็ได้มโนเพลินใจเสมือนว่าอยู่ในมาตุภูมิบ้านเกิด
อุดรธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดของไทย ที่ชาวจีนอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมาร่วมเกือบร้อยปี แหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวจีนโพ้นทะเล คือ ศาลเจ้าปู่-ย่า สถานีที่เก็บรักษามังกรทองยาวถึง 99 เมตร ซึ่งใช้แสดงในงานทุ่งศรีเมืองในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
การกราบไหว้ขอพร ต้องจุดธูป 30 ดอก ปัก 6 จุด แต่ละจุด ปักกระถางธูปกลาง 3 ดอก ซ้าย-ขวา แห่งละ 1 ดอก สิ่งศักดิ์สิทธิ์จุดแรก “ทีตีแป่บ้อ” คือ “ศาลเทพยดาฟ้าดิน” จุดที่สอง คือ “ปึงเถ่ากงม่า” หรือ ”เจ้าปู่เจ้าย่า” จุดที่สาม คือ “ศาลเจ้าพ่อหนองบัว” จุดที่สี่ คือ “ตี่จู๋เอี๊ย” จุดที่ห้า คือ พระสังกัจจายน์ ซึ่งได้ขุดพบใต้ต้นไทรในบริเวณศาลเจ้าปู่-ย่า เมื่อ พ.ศ.2530 และ จุดที่หก คือ “ฉั่งง่วนส่วย” ครบถ้วนร่วมสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชาวจีนในอุดรธานี
จากนั้นก็เดินไปชื่นชมความงามศูนย์วัฒนธรรมไทยจีน สถานที่ตกแต่งจำลองบรรยากาศจีน ร่ายล้อมด้วยพืชพันธุ์ไม้ ต้นหลิว, ต้นเครามังกร, ต้นไผดำ, ประทัดจีน, หงส์ฟู่ บ, โกเนีย, โป๊ยเซียน, เทียนหอม ที่รายล้อมสระบัว และบ่อปลาคาร์ฟจักรพรรดิ์ สระเหมือนยกเมืองจีนมาไว้ใจกลางอุดร
อีกหนึ่งสถานที่ ซิกเนเจอร์ ที่คนไทยหลายคนต้องการไปสัมผัส ในบาทวิถีแห่งชีวิต และความเชื่อ ความศรัทธาต่อพญาศรีสุทโธนาคราช ผู้ขุดแม่น้ำโขง “คำชะโนด” หรือป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี สถานที่ท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของพี่น้องชาวอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ยอมข้ามลำน้ำโขว มาสักการะดินแดนลี้ลับแห่งนี้
คำชะโนด ตั้งอยู่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เชื่อกันว่าเป็นดินแดนของพญานาค เป็นทางเชื่อมต่อเมืองบาดาล ปกครองรักษาโดยพญานาคราชปู่ศรีสุทโธ และองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี ผืนป่าลอยน้ำปกคลุมด้วยต้นคำชะโนด สูงตระหง่านขนาดใหญ่อยู่ทั่วบริเวณ พันธุ์ไม้คล้ายปาล์ม สูงราว 20 เมตร มีใบเหมือนใบตาล ลำต้นเหมือนมะพร้าว ลูกคล้ายหมากเม็ดเล็ก มีที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก
ทริป “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย” ครั้งนี้ คุณอัครฉัตร ขันธะมูล ประธานสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย ภาคอีสานเขต 3 ผู้เลื่อมใสและศรัทธาเจ้าปู่ศรีสุทโธ แกนนำในการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดระเบียบคำชะโนด ได้ให้การต้อนรับ และเชิญ ปู่เขียว หรือคุณลุงสุวัฒน์ เกินดี ผู้นำจิตวิญญาณของชาวอำเภอบ้านดุง มาเป็นเจ้าพิธีบวงสรวง พญานาคราชปู่ศรีสุทโธ และองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี
ปู่เขียว ยังเล่าถึงตำนานพญาศรีสุทโธนาคราช ผู้ขุดแม่น้ำโขงใช้ป่าคำชะโนด และนำพาคณะข้ามสะพานปูนรูปปั้นพญานาค 2 ตัว 7 เศียร พาไปชมจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองบาดาล และโลกมนุษย์ ก่อนจะเข้ามาด้านในของป่าคำชะโนด ตรงบริเวณศาลเจ้าปูศรีสุทโธ ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางเข้ามากราบไหว้กันไม่ขาดสาย บริเวณรากต้นมะเดื่อขนาดใหญ่ ชาวบ้านต่างถูไถรากไม้ใหญ่ค้นหาตัวเลขนำโชค
ส่วนบริเวณ “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่ตั้งอยู่กลางเกาะ มีน้ำใต้ดินพุ่งไหลอยู่ตลอดเวลา ประชาชนส่วนใหญ่ยังตักน้ำใส่ขวด เพื่อเก็บกลับไปสักการะ เพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
คำกล่าวที่ว่า มองไปข้างหน้า “อย่างมีความหวัง” มองไปข้างหลัง “อย่างมีบทเรียน” ดูจะสอดคล้องกับแหล่งท่องเที่ยวจุดสุดท้ายของทริปขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย จังหวัดอุดรธานี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง การค้นพบโบราณวัตถุที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณหมู่บ้านเชียง เริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 เมื่อราษฎรชาวบ้านเชียง พบเห็นเศษภาชนะดินเผาที่มีลวดลายเขียนสีแดงจำนวนมาก และได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนประชาบาล
กระทั่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการขุดค้นที่บ้านเชียง การเสด็จประพาสดังกล่าวได้กระตุ้นและความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งกำลังประสบปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุในขณะนั้น
ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จึงเกิดพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง เพื่อการดำเนินตามพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้จดทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา
เหล่านี้ คือ สิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรม หรืออารยธรรมขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ณ ดินแดนหมากแข้ง อุดรธานี!!