TIJ ร่วมขับเคลื่อนการนำกีฬามาแก้ปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในเวทีประชุมสหประชาชาติ
TIJ ร่วมขับเคลื่อนการนำกีฬามาแก้ปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในเวทีประชุมสหประชาชาติ
TIJ ร่วมกับรัฐบาลไทยนำเสนอร่างข้อมติ “Integrating Sport into Youth Crime Prevention and Criminal Justice Strategies” เพื่อขับเคลื่อนให้กีฬาเป็นแนวทางในการลดโอกาสการกระทำผิดของเด็กกลุ่มเสี่ยง และเด็กกลุ่มที่เคยกระทำความผิด ให้มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มีทักษะในเชิงบวกในการใช้ชีวิต และสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน ระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) ครั้งที่ 28 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับคณะผู้แทนรัฐบาลไทย เข้าร่วมการประชุม CCPCJ ครั้งที่ 28 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยในปีนี้ TIJ ได้เป็นร่วมจัดกิจกรรมภายใต้กรอบ “Collaborative and Innovative Justice for All: Toward the 2030 Agenda” โดยนำประเด็นด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับวาระการพัฒนาของสหประชาชาติมานำเสนอ ภายใต้ธีม “Justice is everyone’s matter.”
ระหว่างการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมคู่ขนาน “Integrating sport in youth crime prevention and criminal justice strategies” TIJ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) รัฐบาลโคลอมเบีย รัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลไทย และสโมสร Bounce Be Good (BBG) ประเทศไทย ส่งตัวแทนเข้าร่วมการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแสวงหาแนวทางลดโอกาสการกระทำผิดของเด็กกลุ่มเสียงและเด็กที่เคยกระทำผิด อันเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ผู้ทรงริเริ่มโครงการ BBG มาปฏิบัติ พร้อมทั้งร่วมกันผลักดันให้แนวทางดังกล่าวได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า กีฬาจะเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่จะช่วยให้เราได้ทบทวนเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรรมทางอาญาเพื่อให้เราเข้าใจถึงความต้องการและการพัฒนาเด็กและเยาวชน และหวังว่ากีฬาจะช่วยให้คนที่เคยกระทำผิดได้คิดใหม่ ได้รับการฟื้นฟู และได้รับโอกาสคืนสู่สังคม และท้ายที่สุดคือการได้ชีวิตใหม่
ในการนี้ ประเทศไทยยังได้จัดนิทรรศการและการประชุมคู่ขนานเพื่อผลักดันประเด็นนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้ชื่อนิทรรศการ “Investing in the future: Revitalizing and Empowering Youth” และในที่สุดร่างข้อมติของประเทศไทยก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมของสหประชาชาติ โดยมีประเทศร่วมสนับสนุนได้แก่ แอนดอร่า เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เบลารุส บัลแกเรีย เปรู ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น กาตาร์ นอร์เวย์ และปานามา
ความสำเร็จของร่างข้อมตินี้ ถือเป็นการแสดงบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้พระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ อดีตเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรของประเทศไทย ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเวียนนา หลังจากที่ทรงเคยผลักดันข้อมติที่นำไปสู่การปรับสถานภาพของผู้ต้องขังหญิง และการยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กจนประสบการณ์ความสำเร็จเป็นมาตรฐานของสหประชาชาติด้านกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกมาแล้ว
หลังจากนี้ ร่างข้อมติ Integrating sport in youth crime prevention and criminal justice strategies จะถูกนำไปพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) และที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly) ในเดือนมกราคม 2563 เมื่อที่ประชุมผ่านมติแล้ว จึงจะได้รับการประกาศให้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศต่อไป
ระหว่างการประชุม CCPCJ ทาง TIJ ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเวทีคู่ขนานในหัวข้อ Fostering a Culture of Lawfulness in Support of the 2030 Agenda ตลอดจนร่วมกับสถาบัน Penal Reform International (PRI) เปิดตัวรายงานแนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลกประจำปี 2019 (Global Prison Trend 2019) และกิจกรรมคู่ขนาน Rehabilitation and social reintegration of women prisoners ซึ่งมีการเปิดตัวคู่มือแนวปฏิบัติเพื่อการบำบัดฟื้นฟูและคืนผู้ต้องขังหญิงกลับสู่สังคม: การอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ (Guide to the Rehabilitation and Social Reintegration of Women Prisoners: Implementation of the Bangkok Rules)
/////////////////////