รายการ “คนละไม้ คนละมือ” ขึ้นกราบสักการะ “พระอุรังคธาตุ” ในองค์พระธาตุพนม จ.นครพนม เพื่อเผยแผ่พุทธประวัติ และ ความเป็นมา
รายการ “คนละไม้ คนละมือ” ขึ้นกราบสักการะ “พระอุรังคธาตุ” ในองค์พระธาตุพนม จ.นครพนม เพื่อเผยแผ่พุทธประวัติ และ ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ณ.วัดพระธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม “นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล” พิธีกร ช่วง “คนละไม้_คนละมือ” รายการ “เปิดฟ้า” ออกอากาศ ทาง ททบ.5 ได้รับความเมตตา กรุณา พระเดชพระคุณเจ้า “พระเทพวรมุนี” ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๐ และเจ้าอาวาส “วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร” อนุเคราะห์ บรรยายธรรมะพร้อมทั้ง อนุญาตให้ทีมงานถ่ายทำรายการ เพื่อเผยแผ่พุทธประวัติความเป็นมาของ “องค์พระธาตุพนม”
ในการนี้ ทางทีมงานรายการขอกราบนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูง ที่ท่าน”พระครูศรีพนมวรคุณ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เมตตา กรุณา บรรยายพุทธประวัติ และความเป็นมาในพุทธกาลการสร้าง “พระธาตุพนม” ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอีสาน พระบรมธาตุที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของนครพนมมาแต่ โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ พ.ศ.๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง ประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้าตั้งตระหง่าน อยู่ริมฝั่งโขง เป็นสถานที่ครั้งหนึ่งพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์น้อยโหญ่ ตามตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึง พระมหากัสสปะและพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้นํา “พระอุรังคธาตุ” (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีปและท้าวพญาผู้ครองนครทั้ง ๕ เป็นประธาน ในการสร้างที่ประดิษฐาน “พระอุรังคธาตุ” อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน
ทั้งนี้ทางรายการฯยังได้รับเกียรติจาก ดร.สุริยนต์ หลาบหนองแสง เลขาสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม/ นายนพรัตน์ ฉัตรเพชรตระการ ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม/ นายชิสนุ เริงสังข์ ( อาจารย์ณัฐ ) เข้าร่วมสายธารธรรมเข้ากราบสักการะ “องค์พระธาตุพนม” ในครั้งนี้ด้วย จากนั้น “ดร.สุริยนต์ หลาบหนองแสง” เลขานุการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม โดยมี “นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ” อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนปิยะมหาราชาลัยเป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม กล่าวประชาสัมพันธ์เชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวพุทธ และประชาชน เดินทางมายังจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นจังหวัดที่มี “พระธาตุประจำวันเกิด” ทั้ง 7 วัน ประดิษฐาน สามารถกราบสักการะได้โดยสะดวกตามพลังศรัทธา และจังหวัดนครพนม ยังเป็นแหล่งศึกษาการเรียนรู้ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน พร้อมให้การต้อนรับกับทุกท่านด้วยใจยินดียิ่ง