วช. มอบรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น “ระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร” สำเร็จ รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดกิจกรรม NRCT TALK “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT : รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 7 โชว์นวัตกรรมการเรียนรู้การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร หนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น ประจำปี 2564
วันที่ 13 กันยายน 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 7 เพื่อเชิดชูนักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นรางวัลที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดย วช. ได้มอบรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น ให้กับ“นวัตกรรมการเรียนรู้การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร” ของ นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว นักประดิษฐ์ได้อุทิศตนเพื่อประดิษฐ์คิดค้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านอากาศยานการบินให้กับเด็กและเยาวชนทั่งประเทศ ให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาอากาศยานแบบปีกหมุน โครงการการประยุกต์ใช้ UAV ในการทำแผนที่สามมิติ (Using Unmanned) และโครงการการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนา Software อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา วช. ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดทำโดรนการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษรในรูปแบบ 3 มิติ ในงานเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า ปัจจุบันโดรนเป็นนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจในการพัฒนาและการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและสามารถพัฒนาไปประยุกต์ใช้งานในหลากหลายมิติ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับได้รับการสนับสนุนจาก วช. ในการจัดโครงการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาโดรนสู่การใช้ประโยชน์ “เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร” ให้กับเยาวชนนักประดิษฐ์ด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับใช้งานโดรนในด้านต่าง ๆ การพัฒนาระบบการบินการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับโดรนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป โดย วช. ได้สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาเยาวชนรูปแบบนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะขยายผลการพัฒนาไปยังเยาวชนในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะด้านประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมในด้านการใช้ประโยชน์จากโดรนอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
การคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงาน เป็นการเขียนโค้ดหรือโปรแกรมในการควบคุมโดรนในรูปแบบต่าง ๆ และเป็นพื้นฐานในการเขียนโค้ดบังคับโดรน ตลอดจนการนำความรู้ไปต่อยอดในการเรียนหรือใช้ในชีวิตประจำวัน หลักการใช้งานเป็นการควบคุมโดรนให้บินขึ้นพร้อมกันครั้งละหลาย ๆ ลำและจัดเรียงตำแหน่งตามที่จุดกำหนด ด้วยการสั่งการจากคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว จากคุณสมบัติของโดรนสามารถพัฒนาไปใช้งานได้ในหลากหลายมิติ ทั้งในการใช้ส่วนบุคคลและการใช้งานโดยองค์กรในสาขาต่าง ๆ ซึ่งพัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไป ดังนั้นหากเรามีการส่งเสริมสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโดรนอย่างจริงจังก็จะทำให้สามารถนำไปต่อยอดใช้งานในภารกิจต่าง ๆ ให้เกิดความก้าวหน้าได้ อาทิ ภารกิจดับไฟป่าโดยใช้โดรนเป็นฝูงซึ่งให้ประสิทธิภาพดีกว่าการใช้ โดรนเพียงลำเดียว ภารกิจด้านการเกษตรโดยใช้โดรนเป็นฝูงบินปฏิบัติภารกิจพ่นสารชีวภาพ เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน ประหยัดเวลาและลดความเสี่ยงจากการใช้แรงงานคน ภารกิจการใช้โดรนครั้งละหลาย ๆ ลำพร้อมกัน ขนส่งสิ่งของ หรือการก่อสร้าง
คุณสมบัติของนวัตกรรมการเรียนรู้การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เป็นโดรนสัญชาติไทยที่ผลิตโดยคนไทย ทั้ง Hardware และ software ได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย และเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประสิทธิภาพการทำงานทัดเทียมกับของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นผู้นำด้านนี้
ผลงานที่นำมาใช้จัดแสดงเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวของประเทศให้เป็นที่รู้จัก และสามารถนำไปจัดแสดงโชว์เพื่อหารายได้ในต่างประเทศ และจากความรู้ที่ได้ถ่ายทอดสู่เยาวชนผ่านการอบรมในโครงการของ วช. ทำให้ผู้ที่ได้รับการอบรมสามารถนำไปต่อยอดรับงานโฆษณา ในงานอีเว้นท์ แสดงการบินโชว์ในพิธีเปิดงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง