เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าเปิดผลวิจัย โต้หมอมหิดล บุหรี่ไฟฟ้าช่วยประหยัดค่ารักษาชาวนิวซีแลนด์ปีละกว่า 78,000 ล้านบาท
เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าเปิดผลวิจัย โต้หมอมหิดล
บุหรี่ไฟฟ้าช่วยประหยัดค่ารักษาชาวนิวซีแลนด์ปีละกว่า 78,000 ล้านบาท
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแจง กรมควบคุมโรค สหรัฐอเมริกาสรุปบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สาเหตุของ “อิวาลี่” ตั้งคำถามความน่าเชื่อถืองานวิจัย ศจย.-ม.มหิดล ชี้ต่างประเทศยืนยันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศ หวั่นสาธารณสุขตัดสินใจพลาด ซ้ำรอยบริหารวัคซีนโควิด แนะดูตัวอย่างจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่
ตามที่มีการเผยแพร่ผลการวิจัย “การประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากบุหรี่ไฟฟ้า Economic cost of e-cigarette ปี 2563” ที่สนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นั้น นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) เผยว่า “การทำวิจัยดังกล่าวตั้งสมมติฐานว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเป็นโรคอิวาลี่ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว กรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาออกมายืนยันแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน หรืออิวาลี (EVALI) แต่เป็นเพราะน้ำมันวิตามินอีอะซิเตท (vitamin E acetate ) ซึ่งเป็นสารเติมแต่งที่ผสมลงไปในบุหรี่ไฟฟ้าแบบไม่ถูกกฎหมาย ดังนั้น ข้อสรุปจากงานวิจัยที่ตั้งสมมติฐานไม่ถูกต้อง และจงใจให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อประชาชน จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ”
“การแบนบุหรี่ไฟฟ้าโดยปล่อยให้มีการเติบโตของตลาดใต้ดิน ขาดการควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอิวาลี่ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่ามีการเอาบุหรี่ไฟฟ้าไปใช้แบบผิดๆ หรือผสมกับน้ำมันกัญชาบ้างหรือไม่ แบบนี้ยิ่งอันตรายมากกว่า”
ข้อมูลจากเวปไซด์ของกรมควบคุมโรค และสำนักงานอาหารและยา สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข้อสรุปของการระบาดของโรคอิวาลี่ไว้ว่า วิตามินอีอะซิเตทมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการระบาดของโรคอิวาลี่ พร้อมแนะนำว่าไม่ควรใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันกัญชา ไม่ควรเติมสารอื่นใดลงในบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ควรใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้มาแหล่งหรือร้านค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรกลับไปสูบบุหรี่อีก
“งานวิจัยของ ศจย. มาจากการตั้งสมมุติฐานแบบไม่เป็นกลาง ทำให้ผลการวิจัยออกมาไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับงานวิจัยจากหลายๆ ประเทศที่สรุปตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีศัยภาพที่จะช่วยชีวิตและลดปัญหาสาธารณสุขเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ได้ ประเทศอังกฤษ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์และมาเลเซียเริ่มเห็นตัวเลขว่าอัตราการสูบบุหรี่ลดลงได้จริง เช่นในประเทศอังกฤษ อัตราการสูบบุหรี่ลดลงเหลือ 13.9% ขณะที่งานวิจัยของสหรัฐอเมริกา หัวข้อ Potential deaths averted in USA by replacing cigarettes with e-cigarettes เผยแพร่ใน The British Medical Journal (BMJ) ซึ่งทำการศึกษาคาดการณ์ผลที่ดีที่สุดและผลที่แย่ที่สุดของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนการสูบบุหรี่ในช่วง 10 ปี พบว่าในสถานการณ์ที่ดีที่สุด (Optimistic Scenario) การใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลงได้ 6.6 ล้านคน ซึ่งเท่ากับว่าเราสามารถรักษาจำนวนปีที่สูญเสียไปก่อนวัยอันควรรวมกันได้ถึง 86.7 ล้านปี ขณะที่ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด (Pessimistic Scenario) พบว่าช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 1.6 ล้านคน หรือจำนวนปีของการเสียชีวิตที่นำกลับคืนมาได้ถึง 20.8 ล้านปี อีกทั้ง การศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ พบว่าการที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ช่วยประหยัดงบประมาณจากการรักษาผู้ป่วยที่มาจากการสูบบุหรี่ลงได้ปีละ 78,000 ล้านบาท”
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกท่านหนึ่งเสริมว่า “กระทรวงสาธารณสุขเคยบอกว่า ตัวเลขงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยและเสียชีวิตจากบุหรี่อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท และมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่กว่า 70,000 คน ซึ่งที่ผ่านมามีการผ่านกฎหมายใหม่ ขึ้นภาษีบุหรี่ เปลี่ยนภาพคำเตือนใหม่ แต่ตัวเลขการสูบบุหรี่และความสูญเสียกลับไม่ลดลงเลยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา หากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยยังไม่ยอมลดอีโก้ของตัวเอง ไม่สนใจผลการศึกษาหรือแนวทางจากต่างประเทศ เราจะเสียโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม การรับมือกับปัญหาการสูบบุหรี่ก็จะถึงทางตัน เหมือนกับที่เราพยายามจัดการเรื่องวัคซีนในประเทศที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอก ทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและการเจ็บป่วยจำนวนมากทั้งๆ ที่เราสามารถป้องกันได้ถ้าเปิดรับแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ