วช.หนุนแปลงหน้ากากซิลิโคนช่วยหายใจสู่นวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19
วช.หนุนแปลงหน้ากากซิลิโคนช่วยหายใจสู่นวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19
ขณะที่บุคลากรแพทย์กำลังขาดแคลนหน้ากาก N95 สำหรับป้องกันโควิด-19 และไม่สามารถซื้อหาได้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจึงประยุกต์ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวอย่างหน้ากากซิลิโคนสำหรับใช้ร่วมกับเครื่องช่วยหายใจเพื่อรับมือกับโรคระบาด และหากเกิดวิกฤติขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคอีกครั้ง ทีมวิจัยเชื่อว่าพวกเขาจะรับมือกับวิกฤติได้อย่างแน่นอน
รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่าในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกแรก โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดดังกล่าว ทำให้ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงและใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย N95 ที่ปกติโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีสำรองในจำนวนไม่มาก อีกทั้งผู้ผลิตรายใหญ่หลายประเทศจำกัดการส่งออก
เมื่อขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นบุคลากรมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดและต้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จึงหาทางออกด้วยการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อมาป้องกันตัวเองระหว่างปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย ซึ่ง ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ระบุว่าจากการสำรวจวัสดุต่างๆ ที่หาได้ พบว่าหน้ากากซิลิโคนที่ปกติใช้ร่วมกับเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยนั้นสามารถนำมาประยุกต์ทดแทนได้ และยังสามารถนำไปอบฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูงเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้
ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชได้ประยุกต์ใช้หน้ากากซิลิโคนประกอบเข้ากับแผ่นกรองเฮปา (HEPA filter) ที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานเทียบเคียงหน้ากากอนามัย N99 ที่สามารถกรองแบคทีเรียและไวรัสมากกว่า 99% และป้องกันเชื้อโรคได้สูงว่าหน้ากากอนามัยชนิด N95 อีกทั้งสามารถเปลี่ยนแผ่นไส้กรองได้ จึงช่วยปกป้องผู้ใช้งานจากการสัมผัสไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม หัวหน้าโครงการการพัฒนาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ทำจากซิลิโคนชนิด N99 (N99 respirator) เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. กล่าวว่ามีการพัฒนาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ทำจากซิลิโคนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงแรกพบว่าหน้ากากซิลิโคนตามมาตรฐานสากลนั้นไม่เข้ากับรูปหน้าคนไทย จึงได้สำรวจขนาดใบหน้าของเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้งานหน้ากากอนามัย N95 แล้วพบว่าค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ของใบหน้ามีขนาดกลาง (M) จึงสั่งผลิตหน้ากากซิลิโคนตามขนาดที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทีมวิจัยยังคำนึงถึงปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มากว่า 2 ปี โดยมีเป้าหมายให้ภาคเอกชนไทยสามารถผลิตแผ่นกรองได้เองในไทย จนกกระทั่งเกิดวิกฤติโควิด-19 จึงได้ประยุกต์ใช้งานเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ และด้วยศักยภาพที่สามารถส่งเสริมให้โรงงานในประเทศไทยผลิตแผ่นกรองได้เอง ทำให้ทีมนักวิจัยเชื่อว่าหากเกิดการระบาดใหญ่ก็จะมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเตรียมพร้อมไว้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติงานท่ามกลางโรคระบาด อีกทั้งในอนาคตยังจะพัฒนาเป็นหน้ากากสำหรับนักกีฬาหรือนักผจญเพลิงต่อไปด้วย
ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในระยะแรกที่เริ่มมีการระบาดส่งผลให้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคขาดแคลนเป็นอย่างมาก โรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ป้องกันมาใช้งานได้อย่างเพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในขณะปฏิบัติงานสูง ดังนั้น อว. จึงมอบหมายให้ วช. ซึ่ง เป็นหน่วยงานดำเนินการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วช. จึงมีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าว