ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มิกซ์ยูสแห่งใหม่ ตอบโจทย์ทุกการใช้ชีวิตย่านสีลม

สร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่ย่านสีลมอีกครั้ง เมื่อ “ดุสิต ธานี” จับมือ “ซีพีเอ็น” ร่วมกันพัฒนา “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” โครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 3.67 หมื่นล้านบาท ภายใต้แนวคิด “Here for Bangkok” โดยมีทีมงานออกแบบชั้นนำอย่าง A49 ที่จะเผยโฉมดีไซน์ทันสมัย แต่ยังคงกลิ่นอายและความงดงามในแบบฉบับดุสิตดั้งเดิม เพื่อตอบโจทย์การใช้ประโยชน์สูงสุดในแง่ของศักยภาพของทำเลได้อย่างครบวงจร


นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แรกเริ่มเดิมที ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุยได้สร้างโรงแรมดุสิตธานีขึ้น เพื่อต้องการให้ประเทศไทยมีโรงแรมห้าดาวมาตรฐานทัดเทียมสากล โดยมุ่งเน้นการให้บริการด้วยความสง่างามแบบไทย จนทำให้ผู้คนต่างรู้จักแบรนด์ดุสิต และธุรกิจของเราขยายสาขาไปยังทั่วโลก จนเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เรามีความจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้ก้าวทันยุค และตอบโจทย์ผู้เข้ามาใช้บริการให้ได้รับความสะดวกสบายสูงสุด เราจึงตัดสินใจรื้อถอนอาคารหลังเก่าและสร้างเป็นอาคารมิกซ์ยูสที่มีความทันสมัย เพื่อให้สอดรับกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน”
“อย่างไรก็ตาม มีเรื่องราวมากมายและเบื้องหลังของสิ่งที่กำลังถูกรื้อถอน ทั้งการวางแผนสร้างรายได้เพิ่มทดแทนรายได้หลักที่หายไป การบริหารจัดการ “คน” ในเครือดุสิตธานี 7,000 คนให้ยังคงทำงานได้ต่อไปและเตรียมพร้อมกับการทำงานในบริบทใหม่ในอีกสี่ปีข้างหน้า ซึ่งทุกอย่างจะขยายและเติบโตกว่าเดิมเป็นเท่าตัว” นางศุภจีกล่าวเสริม
พื้นที่ 23 ไร่บริเวณหัวมุมถนนสีลม ตรงข้ามสวนลุมพินี กำลังถูกปรับเตรียมเพื่อเริ่มงานก่อสร้างโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค โดยมีบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมกลุ่มอาคารทั้งหมดโดยยังคงการสืบสานคุณค่าดั้งเดิม (Heritage) ตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมาของโรงแรมดุสิตธานี ใช้การตีความและออกแบบเป็นอาคารสถาปัตยกรรมใหม่ ให้เหมาะกับศักยภาพของทำเลที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานีในปัจจุบันที่ถือว่าได้พัฒนาไปมากจนเรียกได้ว่าเป็นสุดยอดทำเลที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ ราคาที่ดินย่านสีลมที่ได้รับการประเมินล่าสุด ปี 2563 จากกรมธนารักษ์ระบุราคาสูงสุดคือ 1,000,000 บาทต่อตารางวา หากคิดเฉพาะราคาที่ดินที่กำลังพัฒนาโครงการอยู่ตอนนี้ ราคาที่ดินจะสูงกว่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบของโครงการ ทางบริษัทฯ จึงได้สรรค์สร้างเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายจากพื้นที่บริเวณนี้
แนวคิด Urban re-development จึงถูกนำมาใช้กับการเปลี่ยนผ่านของดุสิตธานีเพราะเป็นแนวทางที่เหมาะกับการพัฒนาที่ดินในทำเลศักยภาพที่ได้ชื่อว่ามีราคาที่ดินที่สูงที่สุดของกรุงเทพฯ และยังเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ให้กับศูนย์กลางธุรกิจถนนสีลม ให้มีความโดดเด่นเป็นไอคอนิคของกรุงเทพมหานคร ที่จะสร้างการจดจำในระดับสากลได้เช่นเดียวกับโครงการมารีน่า เบย์แซนด์ของสิงคโปร์ และฮัดสันยาร์ด นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นายสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) ให้ข้อมูลเบื้องหลังแนวคิดการออกแบบมิกซ์ยูสกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างรวมกันมากกว่า 400,000 ตารางเมตร พร้อมเผยโฉมพิมพ์เขียวโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ในเบื้องต้นว่า “หลักคิดสำคัญของการออกแบบจะถือเอาการใช้งานเป็นหลัก เมื่อวางเลย์เอ้าท์ได้แล้วจึงมาปรับตำแหน่งของแต่ละอาคารไม่ให้บดบังกัน เพราะกลุ่มอาคารทั้งหมดจะต้องมองเห็นวิวจากสวนลุมพินีได้ทุกอาคาร โดยเฉพาะในส่วนของดุสิต เรสซิเดนเซส เนื่องจากเป็นที่พักที่เปรียบเสมือนบ้านที่ผู้พักอาศัยต้องใช้ชีวิตในทุกๆ วัน ดังนั้นจะต้องคำนึงถึงทุกองค์ประกอบเพื่อให้ผู้พักอาศัยได้รับความสะดวกสบาย แต่ยังคงความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยสูงสุดควบคู่ไปด้วย”
พื้นที่ของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์คได้รับการจัดสรรออกเป็นส่วนที่จอดรถชั้นใต้ดิน และกลุ่มอาคาร ประกอบด้วย
• โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ อาคารสูง 39 ชั้น ในภาพลักษณ์ระดับโรงแรมห้าดาวที่หรูหราและมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวอาคาร ซึ่งได้ถอดแบบทุกรายละเอียดอันถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปะของไทยมาจากดุสิตธานีเดิมที่สะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ โดยยังคงรูปแบบอันงดงามของเดิมไว้ ตั้งแต่ยอดชฎาทองซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามประทับไว้บนยอดของอาคาร รวมถึงส่วนฐาน คือ ล็อบบี้ ห้องอาหาร และห้องนภาลัยบอลรูม และส่วนยอดเป็นรูฟท็อปบาร์ ที่ได้รับการออกแบบเพื่อให้คงไว้ซึ่งคุณค่าในอดีตไว้ได้มากที่สุด แต่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ได้สัดส่วนเหมาะสมกับอาคารที่ใหญ่กว่าเดิม โดยยอดเสาเดิมจะถูกติดตั้งไว้ภายใน แล้วนำยอดเสาใหม่ครอบลงไป การออกแบบห้องพักให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วยขนาดห้องที่กว้างขวางและเพดานที่สูงโปร่ง รวมถึงการลดจำนวนห้องพักจากเดิม 510 ห้อง เหลือเพียง 259 ห้อง เพื่อมอบความเป็นส่วนตัวให้แก่แขกของโรงแรม ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ด้วยทำเลซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสวนลุมพินี จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของนักออกแบบที่ต้องจัดเลย์เอ้าท์ให้ห้องพักของโรงแรมทั้งหมด มองเห็นวิวสวนลุมพินี 100% โรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่จึงปักหมุดพื้นที่ด้านหน้าโครงการเพื่อเปิดมุมมองธรรมชาติจากปอดใหญ่ของกรุงเทพฯ
• ดุสิต เรสซิเดนเซส อาคารสูง 69 ชั้น รวม 389 ยูนิต เป็นอาคารส่วนที่พักอาศัยตั้งอยู่ในตำแหน่งของโรงแรมดุสิตธานีเดิม ออกแบบโดยเน้นความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยสูงสุด แบ่งส่วนพักอาศัยเป็น 2 แบรนด์ ได้แก่ ดุสิต เรสซิเดนเซส สำหรับผู้ที่ชื่นชอบที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิก หรูหราเหนือกาลเวลา และมอบความเป็นส่วนตัวสูง และ ดุสิต พาร์คไซด์ ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คนเมืองด้วยดีไซน์ที่ร่วมสมัย
• เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส อาคารสำนักงานความสูง 45 ชั้น ทำเลถนนสีลม ณ จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินที่ตอบทุกโจทย์ธุรกิจ รวมถึงขนาดของพื้นที่ใช้สอยในแต่ละสำนักงานที่มีขนาดกว้างขวาง โดยมีอีกจุดเด่นสำคัญการมองเห็นวิวสวนลุมพินี ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของทำเลที่หลายธุรกิจให้การตอบรับ
• เซ็นทรัล พาร์ค อาคารรีเทล 7 ชั้น เชื่อมโยงทุกองค์ประกอบของโครงการเข้าด้วยกัน นำเสนอประสบการณ์รีเทลแห่งอนาคต โดยการผสมผสานไลฟ์สไตล์อินดอร์และเอ้าท์ดอร์เข้าด้วยกัน และรวบรวมแบรนด์ดังระดับไอคอนของโลกและประเทศไทยครอบคลุมทุกกลุ่มไลฟ์สไตล์
อย่างไรก็ตาม ความเป็นดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะไม่อาจเป็นเซ็นทรัล พาร์คได้สมชื่อหากขาดจุดเด่นสำคัญของการออกแบบพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของโครงการที่เรียกว่ารูฟพาร์ค (Roof Park) เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ถูกโอบล้อมด้วยกลุ่มอาคารสูงทั้งสามและอาคารศูนย์การค้า สวนธรรมชาติที่สร้างขึ้นนี้มีขอบเขตพื้นที่รวม 7 ไร่ เริ่มตั้งแต่ระดับอาคารชั้น 4 ของอาคารศูนย์การค้า ไต่ระดับขึ้นไปสู่ชั้น 5 ชั้น 6 และชั้น 7
“รูฟพาร์คขนาด 7 ไร่นี้เกิดจากแนวคิดที่ต้องการเชื่อมต่อมุมมองสวนลุมพินีไล่ขึ้นไปแบบขั้นบันได เมื่อมองมาจากกลุ่มอาคาร จะเสมือนว่ากำลังอยู่บนเนินเขา ขอบเขตธรรมชาติจะมองเห็นการเชื่อมต่อจากรูฟพาร์ค สู่สวนลุมพินีโดยไม่มีสิ่งใดบดบังสายตา ในขณะที่หากมองมาจากสวนลุมพินี เราจะเห็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเสมือนเป็นเนินเขาขนาดเล็กอยู่ท่ามกลางหมู่ตึกสูงใจกลางเมือง ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ เนื่องจากเราตั้งใจออกแบบพื้นที่นี้ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย วิ่ง ขี่จักรยาน หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานอดิเรก แสดงงานศิลปะ ดนตรี ฯลฯ ตรงนี้จะเป็นการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเกิดรูปแบบไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมือง” นายสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์กล่าวเพิ่มเติม
###

You may have missed