ที่มาของ…“ผีน้อย” ที่มีมานาน ในตำนานอีสาน
โดย…นายธีระพงษ์ โสดาศรี
อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
……………………….
เนื่องจากคำว่า “ผีน้อย” กำลังถูกกล่าวขวัญ และมีการกล่าวถึงในหลายแง่มุม จึงจะขอเล่าถึงความเป็นมาของคำว่า “ผีน้อย” ดังนี้
คำว่า “ผีน้อย” ใช้ในไทยมานานแล้วโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือประมาณปี พ.ศ. 2535 จังหวัดขอนแก่นและหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการรณรงค์ “โครงการม่วนซื่นสงกรานต์ เมือบ้านปลอดภัย”
ทั้งนี้เพราะในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถ ใช้ถนนในประเทศไทยมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
ภาพที่คนเห็นประจำในช่วงดังกล่าวคือสภาพของชาวอีสานที่นั่งแออัดยัดเยียดกันในรถยนต์ปิกอัพ หรือรถยนต์คันเล็กๆ เก่าๆ ซึ่งบรรทุกข้าวสาร ของกินของใช้เต็มคันรถกลับกรุงเทพมหานคร ก็เรียกว่า “รถยนต์ผีน้อย”
จนทำให้คนที่นั่งมาในรถซึ่งก็คือชาวบ้านในละแวกที่ทำงานในกรุงเทพมหานครในโรงงานเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันแทบไม่มีที่นั่งเหมือนผีที่แทบไม่มีตัวตน หรือเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายคราวละมากๆ จากอุบัติเหตุ
ภาพเหล่านี้สื่อมวลชนในภาคอีสานก็กล่าวกันว่าเหมือน “ผีน้อย” ที่เกาะรถ และจะมาคอยให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงเรื่อง “ท้าวกำพร้าผีน้อย” มานานแล้ว)
จากนั้นเมื่อเกิดสภาพการนั่งแออัดยัดเยียดในรถยนต์กันดังกล่าวสื่อมวลชนส่วนกลางจึงใช้คำว่า “รถยนต์ผีน้อย” มาโดยตลอด
จนเมื่อตนเองหลบซ่อน หลีกเลี่ยงไปทำงานผิดกฎหมายในต่างประเทศก็มักจะเรียกตนเองว่า “ผีน้อย” (ภาษาอังกฤษคือ Little Ghost – ส่วนคำว่า Pinoy ปินอย เป็นคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการของชาวฟิลิปปินส์ ที่มีความหมายไม่ค่อยดี; คนที่มีเชื้อชาติฟิลิปปินส์)
คำว่า “ผีน้อย” โด่งดังที่สุดกรณีแรงงานไทยที่หลบหนีเข้าเมืองประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเกิดโรค COVID – 19 ในปี พ.ศ. 2563
ข้อมูล : ธีระพงษ์ โสดาศรี
……………………….
หมายเหตุ : คำว่า “ผี” เป็นคำนาม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือโทษได้ มีทั้งดีและร้าย เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีเรือน ผีห่า, เรียกคนที่ตายไปแล้ว; (โบราณ) เทวดา; (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายความว่า เลว เช่น คนผี; เรียกบุคคลที่หมกมุ่นในการพนัน ว่า ผีการพนันเข้าสิง.
ข้อมูล : ราชบัณฑิตฯ
……………………….
9 มี.ค. 63
อนุญาตเผยแพร่ได้
……………………….