“อลงกรณ์”ฝาก6ข้อคิดกรณีCPTPP ติงอย่าเดินหลงทางผิดทิศผิดเวลา
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เขียนความเห็นเกี่ยวกับCPTPPในเฟสบุ้คส่วนตัววันนี้ ในฐานะที่เคยทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอฟทีเอ.(FTA)เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และเคยทำงานด้านการปฏิรูปประเทศสมัยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ขอแลกเปลี่ยนมุมมองของผมด้วยร้อนใจเกรงว่าจะเกิดการเดินหลงทางผิดทิศและผิดเวลา
สำหรับผมคิดว่า ประเทศไทยยังไม่ควรพิจารณาการเข้าร่วมกลุ่ม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก”หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างหลายภาคส่วนและขณะนี้วิกฤติโควิด19ลามไปทั่วโลกจึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะพิจารณาในเรื่องนี้
จึงฝากข้อคิดอย่างน้อย6ประการให้พิจารณา
1. >วิกฤติโควิด19เปลี่ยนโลก ประเทศไทยยังไม่ควรทำความตกลงFTAใดๆเพิ่มเติมรวมทั้งCPTPPเพราะระบบการค้า การบริการและการลงทุนของโลกจะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ภายหลังวิกฤติโควิด19 จึงไม่ควรเร่งรีบพิจารณาในขณะที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง
2. >ปฏิรูประบบเศรษฐกิจประเทศประเทศไทยในวันข้างหน้าต้องลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติยืนบนขาตัวเองมากขึ้นโดยปรับลดสัดส่วนการพึ่งพารายได้จากการส่งออกจาก70%เป็น50% ของGDPซึ่งเป็นเป้าหมายการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การคิดใช้ซูเปอร์FTAในการขยายการส่งออกและการลงทุนโดยพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้นจึงเป็นการเดินหลงทางผิดทิศหรือไม่ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงต้องยึดเป้าหมายยึดหลักให้มั่นคงการปฏิรูปจึงจะเกิดขึ้นจริง
3. >ศึกษารอบด้านหรือยัง CPTPPเป็นรูปแบบซูเปอร์FTAที่ต้องเปิดเสรีเพิ่มขึ้นกว่าทุกFTAที่ประเทศของเราเคยทำทั้งภาคการค้า การบริการและการลงทุน การศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านในระดับประเทศเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อนการตัดสินใจสุดท้าย
4. >ผลกระทบเมล็ดพันธุ์และยา. ข้อกังวลประเด็นยาและเมล็ดพันธุ์ใหม่รวมทั้งGMOเป็นประเด็นกระทบคนยากจนและเกษตรกรรวมทั้งผู้บริโภคจึงควรให้น้ำหนักในการเปิดกว้างรับฟังและวิเคราะห์ผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวตลอดจนการป้องกันการผูกขาดของบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ทั้งบริษัทในประเทศไทยและในต่างประเทศ
5. >ศึกษาUPOVตกผลึกแล้วหรือ? การวิเคราะห์เชิงโอกาสและปัญหากรณีUPOVยังไม่สมบูรณ์และเป็นประเด็นสำคัญต่ออนาคตของไทยในฐานะประเทศผู้เป็นแหล่งผลิตเกษตรและอาหารของโลก (UPOV-The International Union for the Protection of New Varieties of Plants อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่)
6. >CPTPPเป็นทางเลือกสุดท้ายหรือ?การประเมินความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าร่วมCPTPPหลังจากอเมริกาถอนตัวCPTPP มีสมาชิก11ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ในจำนวนนี้9ประเทศทำFTAกับประเทศไทยอยู่แล้ว เราสามารถเจรจาขยับขยายความร่วมมือภาคการค้า การบริการและการลงทุนในFTAเดิมจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่