#รำลึกวันมหาดไทย# 1 เมษายน

#รำลึกวันมหาดไทย#
1 เมษายน

เช้าวันนี้ ตรงกับวันที่ 1 เม.ย. ของทุกปี กระทรวงมหาดไทยมีพิธีรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติประกาศถวายสดุดีให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกคนแรกของประเทศไทย เนื่องในวันพระราชทานกำเนิดกระทรวงมหาดไทย เป็นปีที่ 128 สำหรับในปีนี้ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยป้องกันโรคไวรัสระบาด ได้งดการเชิญแขกเหรื่อจำนวนมาก และมีเฉพาะผู้บริหารระดับสูงและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 – 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486) พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 และเป็นองค์ต้นราชสกุลดิศกุล ชาววังออกพระนามโดยลำลองว่า “เสด็จพระองค์ดิศ” ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหารและพลเรือน เช่น เจ้าพนักงานใหญ่ ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมธรรมการ (ศึกษาธิการ) องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร นายกราชบัณฑิตยสภา องค์ผู้อำนวยการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย, โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, กรมแผนที่ทหาร และทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระโอรสองค์ใหญ่ในหม่อมเฉื่อย ดิศกุล ณ อยุธยา สืบราชสกุล คือ หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล นายทหารม้าราชองครักษ์และเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 7 มีพระนัดดา (ชั้นหลาน) สืบราชสกุล คือ หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล อดีตเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศมาเลเซีย, สมาพันธรัฐสวิส, นครรัฐวาติกัน และสมาชิกขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีพระปนัดดา (ชั้นเหลน) คือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา มีบุตรชายคนเดียวผู้เป็นชั้นโหลน (ลื่อ) ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ นายวรดิศ ดิศกุล ณ อยุธยา กำลังศึกษาปริญญาเอก (Ph.D.) ทาง ‘Innovation Studies’

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงพระปรีชาสามารถในด้านการศึกษา การแผนที่ การสาธารณสุข ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ ปรัชญา การทหาร หลักรัฐประศาสนศาสตร์ การทูตและการต่างประเทศ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ทรงได้รับพระสมัญญานามเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี” และ “พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย” ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระองค์ให้ทรงเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” คนแรกของประเทศไทย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ดำรงตำแหน่งองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตรงกับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 สิ้นพระชนม์ ณ วังวรดิศ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 สิริรวมพระชันษา 81 ปี

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามกุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็กเป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ สิ้นกาลนานต่อไปเทอญ”

#พิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ#
#วุฒิสภา#
#สถาบันดำรงราชานุภาพกระทรวงมหาดไทย#
#กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกระทรวงยุติธรรม#

■ Our special thanks to The Honourable Bhinai Anantaphongs for the beautiful pictures of the ceremony this morning at the Ministry of Interior, His Majesty’s Government.